วันอาทิตย์ที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2553

field trip 1/24-07-53


ทริป สถาปัตยกรรมไทยพื้นถิ่น วันที่ 1 / 24 ก.ค.53

วันแรกของการเดินทางสู่ ทริป สถาปัตยกรรมไทยพื้นถิ่น เราออกเดินทางจากคณะ ในเวลา 8โมงกว่า เห็นจะได้ เดินทางมุ่งสู่เส้นทางทางเหนือ ที่แรกที่เราได้มาดูของทริป 9 วันนี้ คือจังหวัดอุทัยธานี เราได้มีโอกาสมาดูที่ตลาดอุทัยธานี

บริเวณริมแม่น้ำสะแกกรัง มาถึงที่นี้ก็ประมาณเที่ยงได้ พวกเราจึงแยกย้ายกันไปทานข้าวเที่ยงกัน บรรยากาศโดยทั่วไปจะเป็น ร้านค้าเก่าแก่เป็นส่วนมาก รูปแบบสถาปัตยกรรมจะเป็นเรือนแถวไม้สองชั้น ที่ยังคงรักษาวัสดุเดิมไว้ให้เราได้เห็น แต่มีบางส่วนที่เริ่มการก่อสร้างเป็นอาคารตึกแถว คอนกรีต โดยเฉพาะตลาดบริเวณที่อยู่ริมแม่น้ำ จะเป็นอาคารตึกแถวคอนกรีต เกือบหมดแล้ว ตลาดที่นี่บรรยากาศในช่วงเวลาที่ค้าขายน่าจะคึกคักพอสมควร เพราะมีการตั้งแผงขายอยู่เป็นจำนวนมาก ทำให้เชื่อว่าในอดีตการค้าขายและวิถีชีวิตริมแม่น้ำคงจะเต็มไปด้วยเรือ และแพส่งสินค้าอยู่มาก
แต่ปัจจุบันที่ตลาดนี้ได้มีการทำเขื่อน และลานคอนกรีต ไว้ริมแม่น้ำ ทำให้การค้าขายจะเหลืออยู่แต่เพียงบนบกเท่านั้น อ.จิ๋ว อธิบายว่าการที่เทศบาลมาสร้างเป็น ลาน plaza และรูปแบบของศาลาทรงไทย ที่อยู่ใกล้กัน นั้นเป็นการเข้าใจของสถาปนิกผู้ออกแบบ แต่ไม่ได้เข้าใจในบริบทของชุมชนดั้งเดิม ที่เป็นตึกแถวเล็กๆ มีชีวิตชีวาด้วยการการค้าขาย
สถาปนิกมองแค่ด้านกายภาพเข้าในว่าศาลาทรงไทยจะช่วยส่งเสริมการอนุรักษ์ได้ แต่จับพฤติกรรมกับ สเกลที่มีอยู่เดิมไม่ได้ ทำให้ตลาดท้องถิ่นหายไป แทนที่จะรักษา เอก ลักษณ์ห้องแถวเล็กๆแบบเดิมเอาไว้ จัดระเบียบให้เรียบร้อย ก็จะเป็นสิ่งที่ช่วยรักษาให้ความเป็นชุมชนริมน้ำ วิถีชีวิตเอาไว้ได้อย่างเหมาะสม
โดยส่วนตัวแล้วผมมีความเห็นเหมือน อ.จิ๋ว เพราะลาน plaza ทำให้วิถีชีวิตความเป็นตลาดขาดหายไป ผู้คนก็ไม่ได้มาใช้ประโยชน์จากสิ่งที่สร้างขึ้นมาใหม่ และยังทำลายความเป็นชุมชนริมน้ำไปหมด

นอกจากนี้ยังมีเรือนแพอยู่เป็นจำนวนมาก ปัจจุบันก็ยังมีการใช้เป็นที่อยู่อาศัยอยู่ แสดงให้เห็นวิถีชีวิตที่อยู่คู่กับสายน้ำ อ. จิ๋ว อธิบายว่าแต่เดิมมีการค้าขายกันทางน้ำโดยเฉพาะการขนส่งข้าวล่องตามแม่น้ำ จึงทำให้เกิดบ้านเรือนที่เป็นแพ นอกจากนี้ยังมีการเลี้ยงปลาในกระชัง หรือทำปลาตากแห้งกันในแพ เป็นวิถีการดำรงชีพของผู้คนในอดีตที่พึ่งพาธรรมชาติ ลักษณะวัสดุที่นำมาก่อสร้างเป็นเรือนแพที่พบเห็นส่วนมากจะเป็นไม้ โดยเฉพาะไม้ไผ่ที่นำมาทำเป็นตัวแพให้ลอยอยู่ในน้ำ หรือบางแพอาจจะประยุกต์มาใช้ถังน้ำมันและเป็นโครงเหล็กมาใช้ลอยแทนไม้ไผ่ วัสดุมุงหลังคาใช้เป็นสังกะสี ซึ่งคาดว่าน่าจะเปลี่ยนจากเดิมที่เคยใช้ หญ้าคา หรือ จากมามุง เหมือนที่เคยเห็นที่ บ้านอ.ทรงชัย แต่ปัจจุบันชาวบ้านอาจจะต้องการความแข็งแรง และวัสดุอย่างเช่นสังกะสีก็ หาง่ายในปัจจุบัน เรือนแพที่นี้ยังถือว่ารักษาเอกลักษณ์และภูมิปัญญาดั้งเดิมไว้ เพราะยังสังเกตเห็นเรือนแพที่เป็นไม้ไผ่อยู่จำนวนมาก ยาวตลอดแนวตลิ่ง แต่ อ.จิ๋วก็ยังอธิบายว่า เรือนแพที่เห็นอยู่นี้ เป็นรูปแบบช่วงหลังแล้ว วัสดุและการก่อสร้างจึงผสมผสานกับ สเกลการใช้งานแบบดั้งเดิม รูปแบบหลังคาที่นิยมกันมากจะเป็นจั่ว ยาวทรงหลังคาไม่สูงมากนัก ส่วนห้องน้ำก็มักจะทำแยกออกมาหรือต่อ ออกจากตัวเรือน สิ่งที่น่าสนใจของช่องทางการเข้าไปในบ้านหากเรือนแพจอดอยู่กลางน้ำที่ไม่มีทางเดินเชื่อมไปถึง เค้าจะใช้แพไม้ไผ่เล็ก ที่จอดอยู่อีกด้านริมตลิ่ง แล้วใช้เชือกผูก ลากดึงส่งไปมาระหว่างฝั่งกับเรือนแพ เป็นการใช้ภูมิปัญญาง่ายๆแต่สามารถแก้ปัญหาการใช้ชีวิตบนน้ำได้อย่างน่าสนใจ ซึ่งผมคิดว่าประโยชน์ของการทำเช่นนี้น่าจะเพื่อการป้องกันอันตรายจากการบุคคลภายนอกได้ด้วย

ต่อจากนั้นเราก็เข้ามายังพื้นที่อีกจุดหนึ่งไม่ห่างกันมากนักเป็นพื้นที่ ริมแม่น้ำสะแกกรังเราได้มีโอกาสมาที่บ้านเรือนแพอีกมากมาย รวมทั้ง แพสมเด็จพระวันรัต ใช้เป็นศาลาวัดที่สวดศพ เป็นเรือนแพโบราณที่พัฒนามาใช้วัสดุสมัยใหม่ โครงสร้างของแพเป็นเหล็กแต่ยังมีรูปแบบของ

ลวดลายฉลุ ซึ่งเปลี่ยนจากตัวเหงามา อ.จิ๋วเล่าให้ฟังว่า แพนี้จะใช้งานเหมือนเป็นศาลาของวัดใช้สำหรับสวดศพ ตามบ้านเรือนแพที่มีคนตาย

แพนี้ก็จะถูกลากจูงไปเทียบกับที่นั้นๆ

ซึ่งทำให้คิดถึงว่า ในสมัยอดีตน่าจะมีแพ อยู่มากทีเดียวถึงกับต้องมี ศาลาวัดเคลื่อนที่ไปจัดพิธีสวด ศพให้ ภายในแพเป็นพื้นไม้โปร่งโล่ง มีผนังตีไม้อยู่ด้านเดียวยกพื้นด้านข้างเป็น อาสนะ สงฆ์ ไว้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา ตัวเสารับหลังคาก็ได้ประยุกต์เอาเหล็กมาเป็นส่วนประกอบ จากการประมาณด้วยสายตาแพนี้น่าจะ รองรับคนได้เกือบร้อยคน ซึ่งเป็นแพขนาดใหญ่ และมีการปรับปรุงโครงสร้างให้เป็นเหล็กเพื่อความแข็งแรงทนทาน และรับน้ำหนักได้มากขึ้น

หลังจากได้ถ่ายรูปในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำสะแกกรัง จังหวัดอุทัยธานี แล้ว ต่อจากนั้นเดินทางมุ่งสู่จังหวัด]ลำปาง เพื่อไปนอนพักค้างคืนนี้ ซึ่งคาดว่าน่าจะถึงประมาณเที่ยงคืนได้ หรือมากกว่านั้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น