วันพฤหัสบดีที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2553

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจิตรเจริญ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์



พลเอกสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ มีพระนามเดิม พระองค์เจ้าจิตรเจริญ เป็นพระราชโอรสของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระสัมพันธวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพรรณราย ประสูติเมื่อวันอังคาร เดือน ๖ ขึ้น ๑๑ ค่ำ ปีกุน เบญจศก จ.ศ. ๑๒๒๕ ตรงกับวันที่ ๒๘ เมษายน พ.ศ. ๒๔๐๖ ภายในพระบรมมหาราชวัง เป็นพระราชโอรสองค์ที่ ๖๒

ทรงมีพระเชษฐภคินีร่วมพระมารดาเพียงพระองค์เดียวคือ พระองค์เจ้าหญิงกรรณิกา ซึ่งต่อมาในรัชกาลที่ ๕
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้สถาปนาขึ้นเป็น เจ้าฟ้ากรมขุนขัตติยกัลยาสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงได้รับพระราชทานพระนามจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว อันเป็นสมเด็จพระราชบิดาว่า พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าจิตรเจริญ สิงหนามโดยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเขียนพระราชหัตถเลขาในการพระราชทานพระนามและพระคาถาพระราชทานพรแก่พระโอรสในโอกาสนี้ด้วย

"สมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้ากรุงสยามผู้พระบิดา ขอตั้งนามบุตรชายที่ประสูติ จากหญิงแฉ่พรรณรายผู้มารดา ในวันอังคาร เดือน ขึ้น ๑๑ ค่ำ ปีกุนเบญศกนั้นว่า
พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าจิตรเจริญ สิงหนาม ขอจงมีความเจริญชนมายุ พรรณ สุข พล ปฏิภาณ ศุภสารสมบัติ สุวรรณหิรัญรัตนยศบริวารศฤงคารศักดานุภาพ ตระบะเดชพิเศษคุณสุนทรศรีสวัสดิ พิพัฒนมงคลพิบุลยผลทุกประการ เทอญ"

ต่อมา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสถาปนาขึ้นเป็น "เจ้าฟ้า" พระองค์เป็นต้นราชสกุล จิตรพงศ์

ในปี พ.ศ. ๒๔๒๘ พระองค์ได้รับการสถาปนาจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวขึ้นเป็นพระองค์เจ้าต่างกรม มีพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า พระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนนริศรานุวัติวงศ์

นอกจากนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวยังมีพระราชดำริว่า หม่อมเจ้าพรรณราย พระมารดาในพระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนนริศรานุวัติวงศ์นั้น นับเป็นพระเจ้าหลานเธอในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และเป็นพระขนิษฐาร่วมพระชนกในสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี (สมเด็จพระบรมราชชนนีในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว)

ดังนั้น พระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนนริศรานุวัติวงศ์จึงมีพระอัยยาร่วมกับพระองค์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงมีพระบรมราชโองการสถาปนา พระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนนริศรานุวัติวงศ์ ขึ้นเป็น พระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนนริศรานุวัติวงศ์

พร้อมกันนี้ทรงสถาปนาพระเชษฐภคินีในพระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนนริศรานุวัติวงษขึ้นเป็น พระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนขัตติยกัลยา ด้วย

หลังจากที่พระองค์ได้รับราชการสนองพระเดชพระคุณในตำแหน่งต่าง ๆ เช่น เสนาบดีกระทรวงโยธาธิการ เสนาบดีกระทรวงพระคลัง เสนาบดีกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการกรมยุทธนาธิการ ผู้บัญชาการทหารเรือ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงมีพระราชดำริเห็นควรที่จะสถาปนาให้ดำรงพระอิสริยยศที่ "กรมหลวง" ได้ กอปรกับการสิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี กรมพระจักรพรรดิพงศ์
ซึ่งเป็นสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอร่วมพระราชมารดาในพระองค์ ดังนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงสถาปนาพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนนริศรานุวัติวงศ์ขึ้นเป็น สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าต่างกรม มีพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัตติวงษ์ เมื่อ ปี พ.ศ. ๒๔๔๘

เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๒ พระองค์ทรงประชวรด้วยโรคพระหทัยโตขณะที่ยังทรงรับราชการในตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงวัง จึงได้กราบถวายบังคมลาออกจากราชการ โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตตามที่ทรงขอ

จนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ถึงแม้ด้วยพระโรคที่พระองค์เป็นอยู่นั้นไม่เอื้ออำนวยให้พระองค์ทรงสามารถรับราชการในตำแหน่งที่สำคัญ ๆ ได้ แต่พระองค์ก็ยังคงรับราชการส่วนพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

ดังนั้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงมีพระบรมราชโองการเลื่อนกรมสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัตติวงษ์ขึ้นเป็น สมเด็จพระเจ้าบรมวงษ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงษ์ มีพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า

"สมเด็จพระเจ้าบรมวงษ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงษ์ มหามกุฏพงษ์นฤบดินทร์ ปรมินทรานุชาธิเบนทร์ ปรเมนทรราชปิตุลา สวามิภักดิ์สยามวิชิต สรรพศิลปสิทธิ์วิทยาธร สุรจิตกรศุภโกศล ประพนธปรีชาชาญโบราณคดี สังคีตวาทิตวิธีวิจารณ มโหฬารสีตลัขยาไศรย พุทธาทิไตรรัตนสรณนาวัตร์ ขัตติยเดชานุภาพบพิตร"

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงใช้เวลาส่วนใหญ่กับงานศิลปะและวิทยาการจนพระกำลังพระปัญญาเสื่อมลงทุกที ด้วยทรงพระชราด้วยโรคภัยเบียดเบียน คือ โรคพระหทัยโต หลอดลมอักเสบเรื้อรัง และโรคเส้นพระโลหิตแข็ง

ด้วยพระอัจฉริยภาพทางด้านวิจิตรศิลป์ วิทยาการต่างๆ ของพระองค์ ทำให้พระองค์ทรงเจริญก้าวหน้าในงานราชการต่างๆ จนเป็นที่น่ายกย่องและไว้วางพระราชหฤทัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาหลายรัชกาล ดังจะได้เห็นจากการที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ ทรงยกย่องไว้ในพระราชหัตถเลขา ถึงสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ความว่า “...ฉันไม่ได้นึกจะยอเลย แต่อดไม่ได้ว่าเธอเป็นผู้นั่งอยู่ในหัวใจฉันเสียแล้ว ในเรื่องทำดีไซน์เช่นนี้...” (พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระราชหัตถเลขา ลงวันที่ ๑๗ เมษายน รัตนโกสินทรศก ๑๒๓, ๒๔๔๗)

และดังจะเห็นได้อีกจากความตอนหนึ่งในประกาศพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล รัชกาลที่ ๘ ในการทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เลื่อนสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์ ขึ้นเป็น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ณ วันที่ ๓๑ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๘๘ ความว่า
“ครั้นในรัชกาลปัจจุบัน ถึงแม้ทรงชราภาพแล้วก็ยังทรงช่วยงานนานานัปการ เฉพาะอย่างยิ่งโดยประทานความรู้ในศิลปะวิทยาการตลอดจนภาษาและพระราชประเพณีซึ่งไม่มีผู้ใดจะให้ความรู้ได้ พระองค์ทรงเป็นพระบรมวงศ์ผู้ใหญ่ซึ่งมีพระเมตตาอารีเป็นที่เคารพรักใคร่นับถือของพระบรมวงศานุวงศ์โดยทั่วกัน สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงเคารพนับถืออยู่ว่ามีอัธยาศัยอันซื่อตรง คงสุจริตอารี มีความจงรัก ภักดีต่อใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทอยู่โดยปรากฏ สมควรที่ยกย่องพระเกียรติยศให้ใหญ่ยิ่งขึ้น” (ดวงจิตร จิตรพงศ์, ๒๕๐๖, น. ๓๔)

วันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2490 จึงสิ้นพระชนม์โดยสงบ ขณะมีพระชันษาได้ 83 ปี มีการจัดพิธีพระราชเพลิงพระศพ ณ ท้องสนามหลวง เมื่อวันที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2493 โดยใช้พระเมรุองค์เดียวกับพระเมรุมาศ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล
พระปรีชาสามารถรวมทั้งพระอัจฉริยภาพทางด้านศิลปะวิทยาการแขนงต่างๆของพระองค์ ไม่เพียงเป็นที่ชื่นชมและยกย่องในพระเกียรติคุณของพระองค์ภายในราชอาณาจักรสยามเท่านั้น เพราะพระองค์ยังทรงเป็นที่ชื่นชมและยกย่องจากคนทั่วโลกด้วย จากการที่องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมของสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก (UNESCO) ได้คัดเลือกบุคคลผู้ทรงคุณวุฒิในหลายๆด้าน เพื่อยกย่องเป็น บุคคลสำคัญของโลก เมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๐๖ องค์การยูเนสโกได้พิจารณาเห็นว่า สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงเป็นรัฐบุรุษทรงพระปรีชาสามารถ ทรงเป็นนักปราชญ์ทางอักษรศาสตร์ ประวัติศาสตร์ โบราณคดี วัฒนธรรมและประเพณีต่างๆ และทรงเป็นศิลปินในสาขาต่างๆ ด้วย ดังนั้นในปี พุทธศักราช ๒๕๐๖ องค์การยูเนสโกจึงลงมติให้พระองค์เป็นบุคคลสำคัญของโลก จึงสามารถกล่าวได้ว่า สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ เป็นบุคคลที่น่าชื่นชมในพระปรีชาสามารถด้านศิลปะแขนงต่างๆ สมควรอย่างยิ่งที่ทรงเป็นบุคคลที่น่าชื่นชมของประชาชนชาวไทย

พระกรณียกิจ
ด้านราชการ
พระองค์ทรงเป็นเสนาบดีหลายกระทรวงทั้งกระทรวงโยธาธิการ กระทรวงพระคลังมหาสมบัติ กระทรวงกลาโหม กระทรวงวังในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงตำแหน่งอภิรัฐมนตรีที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน อุปนายกราชบัณฑิตยสภา แผนกศิลปากร และพระองค์ยังได้รับการแต่งให้ให้ดำรงตำแหน่งผู้กำกับการพระราชวงศ์ มีหน้าที่สนองพระเดชพระคุณในพระราชกรณียกิจส่วนพระองค์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยพระราชวงศ์พระองค์ใดที่มีกิจที่ไม่ต้องกราบบังคมทูลพระกรุณาก็ให้ติดต่อกราบบังคมทูลต่อพระองค์แทน นอกจากนี้ ในขณะที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จยังต่างประเทศ พระองค์ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ตั้งแต่วันที่ ๑๒ มกราคม พ.ศ. ๒๔๗๖
จนกระทั่ง พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสละราชสมบัติ พระองค์จึงพ้นจากตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

ด้านศิลปกรรม
งานสถาปัตยกรรมที่โปรดทำมากคือ แบบพระเมรุ โดยตรัสว่า "เป็นงานที่ทำขึ้นใช้ชั่วคราวแล้วรื้อทิ้งไป เป็นโอกาสได้ทดลองใช้ปัญญาความคิดแผลงได้เต็มที่ จะผิดพลาดไปบ้างก็ไม่สู้กระไร ระวังเพียงอย่างเดียวคือเรื่องทุนเท่านั้น"


ด้านสถาปัตยกรรม
อาคารเรียนโรงเรียนมัธยมวัดเบญจมบพิตร การออกแบบก่อสร้างพระอุโบสถวัดเบญจมบพิตร ถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๒ การออกแบบก่อสร้างอาคารเรียนโรงเรียนมัธยมวัดเบญจมบพิตร เริ่มก่อสร้างเมื่อ วันที่ มิถุนายน รัตนโกสินทรศก ๑๒๑ (พ.ศ. ๒๔๔๕ )หรือ ร.ศ. ๑๒๑
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริว่า วัดเบญจมบพิตรตั้งอยู่ห่างไกล บรรดาศิษย์วัดซึ่งต้องอุปฐากรับใช้ภิกษุสามเณร ไม่สะดวกที่จะเดินทางไปเล่าเรียนที่ห่างไกล จึงมีพระราชประสงค์ให้สร้างขึ้นเพื่อ "สอนศิษย์ซึ่งเป็นคฤหัสถ์" พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานกำเนิดเมื่อ ร.ศ.119 (พ.ศ. 2443) ในชั้นต้นที่อาคารชั่วคราวหลังมุงจากใช้เสื่อลำแพนกั้นเป็นประตูและหน้าต่างเพียงหลังเดียว พระองค์ทรงกำหนดหลักสูตรแนวการสอนด้วยพระองค์เองและเปิดสอนตั้งแต่วันที่ 5 พฤษภาคม 2444 มีนักเรียน 40 คน เป็นโรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์โดยตรง ไม่ขึ้นตรงต่อกระทรวงธรรมการสมัยนั้น หลังจากนั้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้พระบรมวงศานุวงศ์ ชั้นผู้ใหญ่และเสนาบดีกระทรวงธรรมการ ร่วมกันวางแผนปรับปรุงโรงเรียนมัธยมวัดเบญจมบพิตร อาทิเจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี (หม่อมราชวงศ์เปีย มาลากุล)จัดทำหลักสูตรโรงเรียนตามพระราชดำริ ที่สำคัญยิ่งก็คือ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานทุนทรัพย์ ส่วนพระองค์สร้างอาคารถาวร สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ เป็นผู้ทรงออกแบบก่อสร้าง เป็นตึกทรงยุโรปพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็นห่วงใยในเรื่องการก่อสร้างเป็นอย่างยิ่งแม้ในสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ก็ต้องได้รับพระราชทาน บรมราชานุญาตทุกอย่าง ขณะที่พระองค์เสด็จประพาสยุโรปได้โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถเสด็จมาทรงควบคุมแทนพระองค์ และพระราชทานนามจารึกที่หน้าบันมุขกลางว่า"โรงเรียนเบญจมบพิตร สร้าง รัตนโกสินทรศก ๑๒๑" เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน รัตนโกสินทรศก 121 (พ.ศ. 2445) หรือ ร.ศ. 121 แล้วได้โปรดเกล้าฯให้นักเรียนขึ้นเรียนบนอาคารถาวรหลังใหม่หลังจากฉลองอาคารแล้ว ตั้งแต่วันที่ 12 เมษายน 2447 เป็นต้นมา

พระอุโบสถวัดเบญจมบพิตร

ลักษณะทั่วไปของพระอุโบสถ เป็นแบบจตุรมุข มุขด้านตะวันออกขยายยาว ด้านเหนือและใต้มีมุขกระสันต่อกับพระระเบียง หลังคา ๔ ชั้น ด้านมุขกระสันทิศเหนือและทิศใต้ ๕ ชั้น มีพระระเบียงโอบรอบด้านหลัง

ผังพระอุโบสถวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม.

ที่มา : มาณพ อิศรเดช, สถาปัตยกรรมฝีพระหัตถ์สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ (กรุงเทพฯ : พี.เอ. ลีฟวิ่ง, 2538), 181.

ผังวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม.

ที่มา : ราชกิจจานุเบกษา : ฉบับประกาศทั่วไป เล่ม 118 ตอนพิเศษ 113ง (14 พ.ย. 2544).


ด้านหน้าพระอุโบสถ มีกำแพงแก้ว บนมุมกำแพงแก้วซ้าย-ขวา มีเสาคอนกรีตหัวเสาเป็นศิลาสลักรูปดอกบัวตูม คือเครื่องหมาย "สีมา" สำหรับด้านหน้า ส่วนสีมาด้านหลังพระอุโบสถ สลักรูปเสมาธรรมจักรที่แผ่นหินแกรนิตปูพื้น

ภายในกำแพงแก้ว ปูหินแกรนิตสีชมพูอ่อนและสีเทา

มุขตะวันออกมีเสากลมหินอ่อน ๔ ต้น ข้างบันไดหินอ่อนมีสิงห์สลักหินอ่อน ๒ ตัว ซึ่งโปรดเกล้าฯให้ ขุนสกลประดิษฐ์ ช่างในกรมช่างสิบหมู่ เป็นผู้ปั้นแบบ ตามภาพที่สมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงเขียน

ผนังรอบพระอุโบสถด้านนอกประดับด้วยแผ่นหินอ่อน ๔ เหลี่ยมสีขาวบริสุทธิ์ หนา ๓ เซนติเมตร

ช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ ลำยอง ลงรักปิดทองทึบ อ่อนช้อยรับกันทุกชิ้นมีคันทวยรับเชิงชายเป็นระยะ ๆ
หลังคาพระอุโบสถมุงกระเบื้องเคลือบสีเหลือง เรียกว่ากระเบื้องกาบู ซึ่งมีลักษณะเป็นกาบโค้งครอบแผ่นรอง เชิงชายเป็นแผ่นเทพนม ซึ่งโปรดเกล้าฯให้นำกระเบื้องวัดกัลยาณมิตร ส่งไปเป็นตัวอย่างทำสีจากเมืองจีน
หน้าบันพระอุโบสถโปรดเกล้าฯให้ผูกลายประกอบพระราชลัญจกรต่าง ๆ คือ

๑. หน้าบันมุขตะวันออก จำหลักไม้ ผูกลายประกอบตราเป็นพระนารายณ์ทรงครุฑ ซึ่งถอดจากพระราชลัญจกร "พระครุฑพาห์" ในลายมีหมู่เทวดาอัญเชิญเครื่องสูงประกอบซ้ายขวาด้วย
๒. มุขตะวันตก จำหลักไม้ ผูกลายประกอบตราเป็นอุณาโลมในบุษบก ซึ่งถอดจากพระราชลัญจกร "มหาอุณาโลม" หรือ "มหาโองการ"

๓. มุขเหนือ ปั้นปูน ผูกลายประกอบตราเป็นช้างสามเศียร บนหลังมีบุษบก ซึ่งถอดจากพระราชลัญจกร "ไอยราพต"
๔. มุขใต้ ปั้นปูน ผูกลายประกอบตราเป็นรูปจักรรถ ซึ่งถอดมาจากพระราชลัญจกร "จักรรถ" แต่เพราะพระราชลัญจกรจักรรถเหมือนกับ "พระธรรมจักร" จึงเรียกกันอีกชื่อหนึ่งว่า "พระธรรมจักร"
ในการผูกลายประกอบพระราชลัญจกร นอกจากสมเด็จฯเจ้าฟ้า กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์แล้ว ส่วนหนึ่งพระเจ้าบวรวงศ์เธอ กรมหมื่นวรวัฒน์ศุภากร (พระองค์เจ้าเฉลิมลักษณวงศ์ ในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว) ช่วยเขียนแบบ ในกำกับของสมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ด้วย
บานประตูด้านนอกติดแผ่นโลหะนูน ภาพเทวดารักษาประตู (ทวารบาล) ด้านในเขียนลายรดน้ำภาพเหมือนกับด้านนอก บานหน้าต่างด้านนอกติดแผ่นโลหะนูนภาพมาร (ยักษ์) แบก ด้านในเขียนลายรดน้ำภาพเหมือนด้านนอก
ภายในพระอุโบสถ มุขตะวันตก ประดิษฐานพระพุทธชินราช ด้านหน้าพระพุทธชินราชเป็นรั้วหินอ่อนกลมสีเขียวหยก
พระแท่นรัตนบัลลังก์พระพุทธชินราช ผนังเสมอกรอบหน้าต่าง และพื้นพระอุโบสถ ประดับหินอ่อนหลากสี
ณ พระแท่นรัตนบัลลังก์นั้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯให้บรรจุพระสรีรางคารพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ผู้ทรงสถาปนาวัด
ผนังเหนือกรอบหน้าต่างขึ้นไปซึ่งเป็นส่วนถือปูน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯให้ช่างกรมศิลปากรเขียนลายไทยเทพนมทรงพุ่มข้าวบิณฑ์สีเหลืองบนพื้นขาวอมเหลืองอ่อน ตลอดถึงเพดาน เมื่อ พ.ศ.๒๔๕๗
เหนือหน้าต่าง ๑๐ ช่อง เป็นช่องกระจกรับแสง เขียนสีลายไทยเทพนม โดยช่างกรมศิลปากร ออกแบบสั่งทำจากเมืองฟลอเรนซ์ (Florence) ประเทศอิตาลี ในปี พ.ศ.๒๔๙๗ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ทรงรับเป็นเจ้าภาพ
ด้านบน ขื่อในและขื่อนอก ๓ ชั้น ลงรักปิดทองลายรดน้ำ เพดานในล่องชาด ประดับดาวกระจาย ๒๓๒ ดวง ดาวใหญ่ ๑๑ ดวง มีโคมไฟระย้าแก้วขาวอย่างดี ตราเลข ๕ ซึ่งเป็นตราวัดเบญจมบพิตร ๖ โคม พร้อมสายบรอนซ์ ซึ่งสั่งทำจากประเทศเยอรมนี
ช่องคูหาทั้ง ๘ เขียนภาพสถูปเจดีย์ที่สำคัญทุกภาค จัดเป็น "จอมเจดีย์" ในประเทศไทย โดยว่าจ้างให้กรมศิลปากรออกแบบและเขียน แล้วเสร็จในปี พ.ศ. ๒๔๘๙ คือ พระมหาธาตุ จังหวัดลพบุรี, พระธาตุพนม จังหวัดนครพนม, พระมหาธาตุ จังหวัดนครศรีธรรมราช, พระเจดีย์ชัยมงคล จังหวัดนครศรีอยุธยา, พระมหาธาตุ จังหวัดสุโขทัย, พระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม, พระมหาธาตุหริภุญชัย จังหวัดลำพูน และ พระศรีรัตนธาตุ จังหวัดสุโขทัย
เฉพาะช่อง "พระมหาธาตุ จังหวัดนครศรีธรรมราช" พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงรับเป็นเจ้าภาพ ช่อง "พระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม" พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ทรงรับเป็นเจ้าภาพ นอกจากนี้มีพระบรมวงศานุวงศ์ และผู้มีจิตศรัทธารับเป็นเจ้าภาพ

สำหรับหินอ่อนที่ประดับตกแต่งพระอุโบสถ พระระเบียง ตลอดจนสถานที่อื่น ๆ สมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงวัดขนาดทำแบบส่งไปเป็นตัวอย่าง เรียกประกวดราคาโดยตรงจากบริษัทขายหินอ่อน ประเทศอิตาลี
ในการออกแบบประดับหินอ่อน มีวิศวกรและสถาปนิกชาวอิตาเลียน จากกรมโยธาธิการ ร่วมดำเนินการด้วยคือ วิศวกร อัลเลกริ (Carlo Allegri) ประสานงานสั่งซื้อหินอ่อน, สถาปนิก ตะมาโย (Mario Tamagno) เป็นผู้ช่วยเขียนแบบบางส่วน
หินอ่อนทั้งหมดได้มีการสั่งซื้อและเรียกประกวดราคาไปหลายแห่ง ส่วนหนึ่งเป็นหินอ่อนจากห้างโนวี ยัวเสปเป้ (Novi Guiseppe) เมืองเยนัว กับหินอ่อนจากเมืองคาร์รารา (Carrara) ประเทศอิตาลี ที่ถือว่าเป็นเมืองที่มีหินอ่อนมากและดีที่สุด มีเอกสารหลักฐานการสั่งซื้อมากมายเป็นหลักฐาน มิใช่เป็นหินอ่อนที่เหลือจากสร้างพระที่นั่งอนันตสมาคมตามที่นักเขียนหลาย ๆ คนเข้าใจและเขียนเผยแพร่อยู่ในหนังสือต่าง ๆ แต่อย่างใด ในช่วงแรกมีมิสเตอร์ มูโซ่ (Mr. L. Mosso) ซึ่งเป็นช่างจากบริษัทขายหินอ่อน เป็นนายช่างประดับหินอ่อน มีช่างคนไทยเป็นลูกมือ

พระอุโบสถวัดราชาธิวาส
ผังวัดราชาธิวาสวิหาร พ.ศ. 2459.
ที่มา : มาณพ อิศรเดช, สถาปัตยกรรมฝีพระหัตถ์สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ (กรุงเทพฯ : พี.เอ. ลีฟวิ่ง, 2538), 189.

ผังพระอุโบสถวัดราชาธิวาสวิหาร.
ที่มา : หอจดหมายเหตุ, ผ.สบ.8.1/11, แบบแปลนส่วนบุคคล : สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์, แบบแปลนอุโบสถวัดราชาธิวาสวิหาร

พระอุโบสถ ตั้งอยู่ทิศใต้ถนนที่ผ่ากลางวัด เป็นทรงขอมคล้ายนครวัด แต่เป็นลวดลายปูนปั้นผินหน้าไปทางทิศตะวันตก ซึ่งมีแน่น้ำเจ้าพระยา อันเป็นทางสัญจรสำคัญครั้งโบราณเป็นหน้าวัด สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์ ทรงออกแบบ ด้านหน้ามีประตู ๓ ช่อง มีห้องเป็น ๓ ตอนห้องหน้าเป็นระเบียง ห้องกลางเป็นห้องพิธี มีพระสัมพุทธพรรณีเป็นพระประธาน มีเศวตฉัตร ๙ ชั้น (ร. ๕ หล่อพระราชทาน)
ปราสาทนครวัด
หลังพระประธานเป็นซุ้มคูหา เบื้องบนมีภาพพระพุทธเจ้าอยู่เหนือเมฆกำลังตอบปัญหาของพระสารีบุตรและพระอินทร์เฝ้าที่ใกล้พระประธานมีรูปศากยกษัตริย์พระประยูรญาติมาเฝ้าอยู่เบื้องหลัง
ซุ้มคูหาเป็นตราประจำ ๕ รัชกาล คือ ตั้งแต่รัชกาลที่ ๑ ถึงรัชกาลที่ ๕ บนเพดานเป็นลวดลายมีดาวเป็นที่เสียบหลอดไฟฟ้า
ฝาผนังทั้ง ๓ ด้าน มีภาพเขียนเวสสันดรชาดกทั้ง ๑๓ กัณฑ์ เขียนโดยนายช่างชาวอิตาเลียนชั้นศาสตราจารย์ชื่อ “ริโคลี”
บานประตูหน้าต่างทุกบานลายรดน้ำ ทรงข้าวบิณฑ์ ด้านในเป็นภาพเทวรูปทุกช่อง ตอนหลังสุดมีผนังห้องและประตูผ้าม่านผ่านถึงตอนที่ ๓ ห้องนี้เป็นที่ประดิษฐ์พระประธานองค์เดิมของวัดนามว่า “พระสัมพุทธวัฒโนภาส” ความสำคัญของ
พระประธานองค์นี้ เป็นเหตุให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงกั้นห้องพระอุโบสถออกเป็น ๓ ตอนด้วยทรงพระราชปรารภว่า จะทรงประดิษฐานพระสัมพุทธพรรณี อันเป็นที่สักการะของพระบรมชนกาธิราช
ประจำพระอุโบสถหลังนี้ แต่ก็เป็นไปไม่ได้ เนื่องด้วยพระสัมพุทธพรรณี ได้ไปประดิษฐานไว้ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ซึ่งเป็นที่เหมาะสมอยู่แล้ว จึงได้ทรงจำลององค์ใหม่ขึ้นแทน แต่ก็มีปัญหาว่า พระประธานองค์เดิม ควรจะเชิญไปไว้ ณ ที่ใด และได้ทรงพระราชดำริว่า ถ้าย้ายไปก็จะเป็นเสมือนหนึ่งไล่เจ้าของเดิม จึงได้ทรงกั้นห้องพระอุโบสถออกเป็นห้อง ๆ เพื่อจะได้ประดิษฐานพระพุทธรูปไม่ระคนกันนับว่าเป็นพระราชดำริอันสุขุมคัมภีรภาพ
ภาพวาดอุโบสถ วัดราชาธิวาสราชวรวิหาร
วาดโดย สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์

ใต้ฐานชุกชีแห่งพระสัมพุทธพรรณีล้นเกล้ารัชกาลที่ ๖ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประดิษฐานพระราชสรีรางคารสมเด็จพระนางเจ้าพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๕ไว้ นอกจากนั้นในรัชกาลปัจจุบัน ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้บรรจุพระบรมราชสรีรางคารสมเด็จพระศรีสวรินทรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าไว้อยู่ภายใต้ฐานชุกชีพระสัมพุทธวัฒโนภาส และเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๘ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้บรรจุเส้นพระเกศาของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ ๗ ด้วยพระอุโบสถหลังนี้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๐ (ร.ศ. ๑๒๗)

ด้านภาพจิตรกรรม

ภาพเขียน
ภาพเขียนสีน้ำมันประกอบพระราชพงศาวดาร แผ่นดินพระเจ้าท้ายสระครั้งกรุงศรีอยุธยา
เป็นภาพช้างทรงพระมหาอุปราชแทงช้างพระที่นั่ง ภาพเขียนรถพระอาทิตย์ที่เพดานพระที่นั่งภานุมาศจำรูญ (พระที่นั่งบรมพิมาน)
ภาพประกอบเรื่องธรรมาธรรมะสงคราม
ภาพแบบพัดต่างๆ ฯลฯ


งานออกแบบ
ออกแบบตรากระทรวงต่างๆ
ตราปักษาวายุภักษ์
ในพระธรรมนูญใช้ตรากล่าวว่าตราปักษาวายุภักษ์ เป็นตราของพระยาราชภักดีฯ เจ้ากรมพระจำนวน
ซึ่งมีหน้าที่เกี่ยวกับภาษีอากร ต่อมาเมื่อโปรดให้ตั้งกระทรวงพระคลังฯและใช้ตราพระสุริยมณฑลแล้ว
ตราปักษาวายุภักษ์ก็เลิกใช้ แต่นำเอามาใช้เป็นเครื่องหมายกระทรวงการคลัง นกวายุภักษ์
สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์ ตรัสอธิบายไว้ดังนี้ "ถ้าแปลตามคำก็ว่า นกกินลม
ข้อยากในนกนี้เกิดขึ้นในที่ประชุมเสนาบดี สั่งให้สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์
ทรงเขียนผูกตรากระทรวงต่างๆเป็นลายข้อมือเสื้อเครื่องแบบ หากเป็นตราเก่าซึ่งมีตราประจำกระทรวงอยู่แล้ว
จะเอามาใช้ได้ให้ใช้ตราเก่า ที่เป็นกระทรวงใหม่ไม่มีตรามาแต่เดิมจึงคิดผูกขึ้นใหม่

อนุสาวรีย์ทหารอาสาสงครามโลกครั้งที่ 1
องค์พระธรณีบีบมวยผมที่เชิงสะพานผ่านพิภพลีลา


พระบรมรูปหล่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชที่เชิงสะพานพระพุทธยอดฟ้า

ปฏิมากรโดย อาจารย์ ศิลป์ พีระศรี

ทรงออกแบบพระเมรุมาศ และพระเมรุของพระบรมวงศ์หลายพระองค์

ผังบริเวณพระเมรุมาศสมเด็จพระศรีพัชรินทร์บรมราชินีนาถ พระพันปีหลวง พ.ศ. 2463.
ที่มา : มาณพ อิศรเดช, สถาปัตยกรรมฝีพระหัตถ์สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์
(กรุงเทพ : พี. เอ. ลีฟวิ่ง, 2538), 231.

ผังบริเวณพระเมรุสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส พ.ศ. 2464.
ที่มา : หอจดหมายเหตุแห่งชาติ, รล.ผผ.060/6, แผนผังพระเมรุที่พระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระมหาสมณเจ้า
กรมพระยาวชิรญาณวโรรส.

ผังบริเวณพระเมรุสมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงสงขลานครินทร์ พ.ศ. 2472.
ที่มา : มาณพ อิศรเดช, สถาปัตยกรรมฝีพระหัตถ์สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์
(กรุงเทพ : พี. เอ. ลีฟวิ่ง, 2538), 251.

ผังบริเวณพระเมรุมาศพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว.
ที่มา : หอจดหมายเหตุ, ผ.สบ.8.2/1, แบบแปลนส่วนบุคคล : สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์,
แบบพระเมรุมาศและผังที่พระราชทานเพลิงพระบรมศพรัชกาลที่ 5.

ด้านวรรณกรรม
มีทั้งร้อยแก้วและร้อยกรอง เช่น โคลงประกอบภาพจิตรกรรมภาพพระราชพงศาวดาร,
โคลงประกอบเรื่องรามเกียรติ์ ทรงพระนิพนธ์เมื่องานฉลองพระนครครบรอบร้อยปี,
ลายพระหัตถ์โต้ตอบประทานบุคคลต่างๆ เช่น จดหมายเวรโต้ตอบกับ
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ลายพระหัตถ์ประทานความรู้ในลักษณะจดหมาย
โต้ตอบพระสารประเสริฐและพระยาอนุมานราชธน เรื่องภาษาและประเพณี ลายพระหัตถ์โต้ตอบเหล่านี้
เป็นเหมือนคลังความรู้สำหรับผู้สนใจใฝ่ศึกษาค้นคว้าทั่วไป

ด้านดุริยางคศิลป์และนาฏศิลป์
ทรงสนพระทัยทั้งดนตรีไทยและดนตรีสากล โดยเฉพาะดนตรีไทยนั้นทรงฝึกฝนมาแต่พระเยาว์
ทรงถนัดเล่นปี่พาทย์และระนาดมากกว่าเครื่องดนตรีอื่นๆ

เพลงพระนิพนธ์
เพลงสรรเสริญพระบารมี
เพลงเขมรไทรโยค
เพลงตับ เช่น ตับแม่ศรีทรงเครื่อง ตับเรื่องขอมดำดิน

ด้านบทละคร
ทรงนิพนธ์บทละครดึกดำบรรพ์ไว้หลายเรื่อง เช่น
สังข์ทอง ตอนทิ้งพวงมาลัย ตีคลี และตอนถอดรูป
คาวี ตอนเผาพระขรรค์ ชุบตัว และตอนหึง
อิเหนา ตอนตัดดอกไม้ฉายกริช ไหว้พระ และตอนบวงสรวง
รามเกียรติ์ ตอนศูรปนขาตีสีดา

โรงละคอนชั่วคราวในสมัยรัชกาลที่ ๕ การฟ้อนรำของเทพบุตร เทพธิดา ในแบบของละคอนในคือผู้รำเป็นสตรีล้วน ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า เจ้าอยู่หัว แสดงในการรำเบิกโรงหรือฉาก บวงสรวงในละคอนเรื่อง อิเหนา หมายเหตุ การแต่งหน้าใช้แป้งสีขาว และการ แต่งฉากผ้าห้อยด้านหลังใช้ผ้าเขียนเป็นฉาก ป่าธรรมชาติและพลับพลา (พลับพลามีม่าน จริงๆ ประดับ ทำให้เห็นฉากเป็นภาพสาม มิติ)

ในสมัยเดียวกันนี้ก็มีโรงละคอนเกิดขึ้นมากมายตามคณะละคอนที่มีชื่อของบรรดาเจ้านายซึ่งมักจะปลูกขึ้นตามวังต่างๆ โรงที่มีชื่อเสียงมากคือ โรงละคอนดึก ดำบรรพ์ของเจ้าพระยาเทเวศรวงศ์วิวัฒน์ในวังบ้านหม้อ เปิดแสดงครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๗ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๔๒เพื่อรับเสด็จเจ้าชายเฮนรีพระราชอนุชาของพระเจ้ากรุง ปรัสเซีย โรงละคอนนี้ทำเป็นเวทียกพื้นมีกรอบหน้าและม่านปิดเปิดแบบ proscenium stage ของฝรั่ง เมื่อรูดม่านหน้าออกจะเห็นลึกเข้าไปภายในเหมือนมองเข้าไปในกล่อง ที่มีฝาสามด้าน และฝาที่ ๔ คือด้านคนดูเปิดออกมองเข้าไปในฉากภายใน ด้านข้างมี หลืบกั้นเป็นระยะ ๒ หรือ ๓ ชั้น และด้านหลังเป็นฉากวาดหลายฉากซ้อนกันลึกเข้าไป สามารถม้วนขึ้นลงได้ พอหมดฉากหนึ่งก็ม้วนฉากขึ้นกลายเป็นฉากต่อไป ฉากสุดท้าย มักจะอลังการที่สุด จิตรกรสถาปนิกที่มีบทบาทสำคัญยิ่งในการสร้างโรงละคอนและ ฉากให้ละคอนดึกดำบรรพ์นี้คือ สมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงฝึกหัด จิตรกรรมและเขียนทัศนียภาพตามแบบตะวันตกด้วยพระองค์เอง โดยเลียนแบบช่าง อิตาเลียนในสมัยนั้นและไม่ได้เคยเสด็จไปยุโรปด้วยพระองค์เอง แต่พระองค์ทรง สามารถที่จะนำความคิดฝรั่งมาผสมผสานกับศิลปะไทยได้อย่างกลมกลืน ฉากละคอน ของพระองค์จะมีทั้งองค์ประกอบของสถาปัตยกรรมและจิตรกรรมผสมกัน ทำให้ เกิดลักษณะลึกเป็นสามมิติเหมือนจริงตามธรรมชาติ มีการแรเงาให้แสงตามที่ตาเห็น ในความจริงในธรรมชาติในทิศทางของแสงแดดที่ทอแสงเข้ามากระทบสิ่งต่างๆ ใน ห้องนั้นๆ เช่น ฉากไหว้พระในเรื่อง อิเหนา ทรงวาดเป็นภายในวิหารเห็นเทวรูปขนาด ใหญ่ด้านข้างซึ่งสมจริง และเมื่ออิเหนาแอบอยู่จะได้เห็นทั้งอิเหนาและบุษบาพร้อม กัน นอกจากนั้นมีหน้าต่าง ประตูและเสาวิหารขนาดใหญ่แบบชวาทำให้ดูลึกลับซับซ้อน


พระเกียรติยศ

พระราชอิสริยยศ
พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าจิตรเจริญ (28 เมษายน พ.ศ. 2406 - สิ้นรัชกาลที่ 4)
พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าจิตรเจริญ (ต้นรัชกาลที่ 5 - 10 มีนาคม พ.ศ. 2428)
พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าจิตรเจริญ กรมขุนนริศรานุวัดติวงศ์ (10 มีนาคม พ.ศ. 2428 - 18 ธันวาคม พ.ศ. 2430)
พระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนนริศรานุวัดติวงศ์ (18 ธันวาคม พ.ศ. 2430 - 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2448)
สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์ (10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2448 - สิ้นรัชกาลที่ 5)
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์ (ต้นรัชกาลที่ 6 - 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2456)
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์ (11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2456 - 31 ธันวาคม พ.ศ. 2488)
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ (31 ธันวาคม พ.ศ. 2488 - สิ้นพระชนม์)