วันพฤหัสบดีที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2553

บ้านเขาแก้ว จ.สระบุรี


บ้านเขาแก้ว อ. ทรงชัย 10 ก.ค. 53

หลังจากที่ผมได้พบเห็นประสบการณ์ จากทุ่งครุ และสถาบันอาศรมศิลป์แล้ว ครั้งนี้ก็เป็นอีกครั้งหนึ่งที่เราจะไปพบกับ สถาปัตยกรรมไทยพื้นถิ่น ของจริงอีกครั้ง

ในครั้งนี้เราได้มีโอกาสไปยัง บ้านเขาแก้ว ของ อ.ทรงชัย วรรณกุล และศูนย์ศึกษาศิลปะและวัฒนธรรมไทยล้านนา จังหวัดสระบุรี แต่เดิมต้นตระกูล ของอ. ทรงชัย ได้อพยพมาจาก เชียงแสน เมื่อมาอยู่ที่นี่ก็ทำอาชีพเกษตรกรรม อ.ทรงชัย กลัวว่าวัฒนธรรมและวิถีชีวิตดั้งเดิมจะเปลี่ยนไป จึงจัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์ มีส่วนของการประยุกต์เอาเรือนพื้นถิ่น ความเป็นอยู่อย่างไทย วิถีชีวิติที่เรียบง่าย เป็นธรรมชาติ และเงียบสงบ


ที่นี้ อ.ทรงชัยได้รวบรวมเอาเรือนไทยพื้นถิ่นเอาไว้ และยังมีเครื่องใช้ไม้สอยของเก่าโบราณ มากมาย พื้นที่บริเวณรอบๆเป็นต้นไม้ทึบสูงแต่เมื่อเข้ามาภายในแล้วรู้สึกได้ถึงความเป็นลานโล่งโปร่งอย่างที่ อ.จิ๋วเคยบอกไว้ ลานที่ปรากฏหน้าบ้านเป็นลานดินอัดแน่น แต่ก็ยังมีพุ่มไม้เตี้ยๆ อยู่บ้างเป็นไม้ดอกไม้ผล มีคูน้ำที่ถูกขุดไว้โดยรอบของเรือน ช่วยเป็นแนวรั้วธรรมชาติ และยังเป็นการนำน้ำเข้ามาใช้ในสวนรวมทั้งท้องนา ที่อยู่รอบๆอีกด้วย อ.จิ๋วได้อธิบายว่า ลานดินอัดแน่นถือเป็นพื้นที่ส่วนสำคัญของบ้านไทย คนสมัยโบราณใช้ลานไว้ตากข้าว และหากเป็นลานดินที่สะอาดได้รับการดูแลรักษาเป็นอย่างดี จะแสดงให้ว่าคนที่อยู่บ้านนี้เป็นคนขยัน รักษาความเป็นระเบียบเรียบร้อย การรักษาลานดินให้โปร่งโล่งอยู่เสมอ จะช่วยให้ป้องกันอันตรายจากสัตว์เลื้อยคลานหรือสัตว์มีพิษเข้ามาภายในบริเวณบ้านได้ ลานดินนี้ยังมีประโยชน์ในการทำกิจกรรมต่างๆเช่นการทำหัตกรรม จักสาน เมื่อเวลา เว้นว่างจากการทำงานเกษตรกรรม รอบๆลานดินนั้นเรายังสังเกตได้ว่าจะมีร่องน้ำ เพื่อระบายน้ำออกจากลานดิน ซึ่งเป็นภูมิปัญญาที่สอดคล้องกับสภาพภูมิประเทศ ที่ตั้งของเรือนได้อย่างเหมาะสม

ตัวเรือนที่ยกใต้ถุนสูงที่เป็นรูปแบบของเรือนไทยภาคกลาง อ.ทรงชัยได้เก็บรวบรวมเอาเครื่องมือทำมาหากิน ของชาวบ้านสมัยก่อนไว้มากมาย โดยเฉพาะเกวียนเก่าแก่ ที่อยู่บริเวณข้างเรือนซึ่งเป็นเกวียนที่สมบูรณ์ มากเกวียนหนึ่งที่ผมได้เคยเห็นมา

ในส่วนของตัวเรือนไทยที่ อ.ทรงชัยเก็บรักษาไว้มีลักษณะเป็นเรือนหมู่ที่เป็นกลุ่มเรือน มีการทิ้งระยะห่างระหว่างตัวเรือนได้กลมกลืนกับสภาพแวดล้อมธรรมชาติถึงแม้ว่าเรือนแต่ละหลังที่ตั้งอยู่บริเวณนี้จะมีที่มาจากหลายที่ แต่การวางผังหมู่เรือน ก็ทำให้เห็นว่าเรือนไทยสามารถเข้ากันได้อย่างเหมาะสม ซึ่งน่าจะมาจากการที่เรือนไทยสามารถ ถอดชิ้นส่วนโครงสร้างและยกมาประกอบ ได้เหมือนเดิม เพราะภูมิปัญญาของคนในอดีตที่คิดค้นวิธีการก่อสร้างแบบเข้าสลักเดือยกัน ของโครงสร้าง แต่เรือนไทยพื้นถิ่นเหล่านี้ถูกประยุกต์การก่อสร้างอาจจะเพราะด้วยข้อจำกัดของ วัสดุไม้ที่มีความเก่าแก่และทรุดโทรมไปตามเวลาจึงต้องใช้การตอกยึดด้วยตะปูในบางส่วน และข้อจำกัดของวัสดุอีกเรื่องหนึ่งคือ วัสดุมุงหลังคาของตัวเรือนที่ถูกเปลี่ยนมาใช้เป็นสังกะสี ที่ของเดิมอาจจะเป็นวัสดุธรรมชาติ

และสิ่งที่ผมสนใจคือระนาบทางเดินที่นำเราไปยังส่วนต่างๆของเรือน ทำให้เกิดมุมมองที่น่าสนใจแตกต่างออกไปในแต่ละส่วน ซึ่งเราสามารถนำเอาการเล่นทางเดินเชื่อมที่แทรกตัวกับ landscape เข้าไปใช้กับงานสมัยใหม่ได้

ด้านหลังของเรือนเป็นสระขุดขนาดใหญ่ แสดงให้เห็นถึงวิถีของเรือนพื้นถิ่นที่อยู่ริมน้ำ ตัวเรือนมีลักษณะเป็นชานที่ยื่นออกไปริมน้ำ บ่งบอกถึงลักษณะวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนสมัยก่อนที่มักจะสร้างเรือนบริเวณริมน้ำ เพราะการคมนาคมมักจะใช้เรือเดินทางไปมาหาสู่และทำการค้าขายกัน การวางผังบริเวณในส่วนนี้ก็จะสอดคล้องกับ landscape ธรรมชาติที่มีน้ำเป็นหลัก มีการเชื่อมเรือนแต่ละหลังเข้าไว้ด้วยทางเดินไม้ ความน่าสนใจของกลุ่มเรือนในบริเวณริมน้ำนี้ ที่เห็นได้ชัดเจนคือยัง คงใช้วัสดุธรรมชาติเกือบทั้งหมด โดยเฉพาะส่วนที่จัดแสดงไว้เป็นเรือนครัว ที่มีลักษณะของฝาเรือนไม้ไผ่สานขัดแตะ และหลังคาวัสดุมุงด้วยหญ้าคา ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของเรือนไทยพื้นถิ่นที่สวยงามมาก

ต่อจากนั้นเราก็ได้พักทานข้าวเที่ยงกัน เดินข้ามมายังฝั่งตรงข้ามของถนน คือ ศูนย์ศึกษาศิลปะและวัฒนธรรมไทยล้านนา เป็นพื้นที่ของพิพิธภัณฑ์อีกส่วนหนึ่ง ในส่วนนี้สังเกตได้ทันทีว่าลักษณะพื้นที่เป็นที่ลาดชัน ลงไปยัง ริมแม่น้ำป่าสัก

ลักษณะจะแต่ต่างกับพื้นที่ส่วนแรกอย่างมาก เรือนพื้นถิ่นที่สร้างก็มีลักษณะคล้ายๆกับในส่วนแรกแต่ จะแตกต่างกันตรงที่ปรับเปลี่ยน และมีการเล่นระดับ มีชานที่ค่อยลดระดับ เปลี่ยนถ่ายลงมาเรื่อยจนถึงริมแม่น้ำให้เข้ากับสภาพภูมิประเทศ แต่ยังคงรักษาเอกลักษณ์ของการยกใต้ถุนยกสูง โปร่งโล่ง ที่ใช้เป็นที่เก็บ ฝืนไม้และอุปกรณ์เครื่องมือของชาวบ้าน ที่สำคัญยังเป็นที่เก็บเรือ ถัดลงไปจากส่วนที่เป็นลานดินโล่งออกไปเป็นเรือนแพ ฝาขัดแตะหลังคามุงหญ้าคา

แต่ที่น่าสนใจคือการประยุกต์เอาเทคนิคและวัสดุสมัยใหม่มาทำเป็นตัวแพ โดยใช้ถังน้ำมัน มาเป็นตัวทุ่นลอยน้ำ และใช้โครงเหล็กตีโครงขึ้นมารับพื้นไม้และตัวเรือน ซึ่งเดิมที่ส่วนนี้น่าจะทำจากไม้ไผ่มัด ต่อกันเข้าเป็นแพแต่ด้วยความต้องการการคงทน จึงมีการประยุกต์เอาวัสดุอื่นมาใช้ทดแทน แต่ลักษณะการใช้งานและเอกลักษณ์เดิมก็ไม้ได้สูญเสียไป เรือนแพยังคงสามารถเคลื่อนย้ายไปตามแม่น้ำได้เช่นเดิม

บริเวณริมน้ำยังจัดแสดงให้เห็นเครื่องมือจับปลาอย่างเช่น ยอ ไว้ด้วย ทำให้เห็นถึงวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ กับสายน้ำ เรือที่มีอยู่มากมาย สันนิฐานว่าน่าจะมีการคมนาคมทางน้ำที่คึกคัก เปรียบได้กับปัจจุบันที่มีรถยนต์เป็นพาหนะเช่นกัน ถึงแม้ว่าอากาศในตอนนั้นจะร้อน แต่ด้วยการวาง lay-out โดยให้ชานขนาดใหญ่แทรกอยู่กับไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ ที่มีอยู่มากช่วยให้อากาศไม่ร้อนจนเกินไปเมื่อได้มานั่งพักผ่อน บวกกับภาวะน่าสบายที่ตัวชานต่างๆ ได้ยื่นออกไปในน้ำ ทำให้ลมเย็นพัดความชื้นขึ้นมาช่วยคลายร้อนได้ดีทีเดียว

สิ่งที่ขาดไม่ได้คือการแสดงของน้องๆ กลุ่มเยาวชนสืบสานวัฒนธรรมพื้นบ้าน ไทยวน สระบุรี

ที่ออกมาแสดงให้พวกเราชม ถึงวัฒนธรรม การฟ้อนรำต่างๆ ที่ประทับใจคือน้องที่ร้องเพลงของ แม่ผองศรี วรนุช ที่มีน้ำเสียงอันทรงพลัง ทำให้พวกเราทึ่งไปตามๆกัน กับความสามารถเกินตัว สุดท้ายน้องๆและพวกเราก็ได้ร่วมกัน ออกมารำวงกัน และถ่ายภาพร่วมกันเป็นที่ระลึก

เสร็จจากการเยี่ยมชมบ้านเขาแก้ว และศูนย์ศึกษาศิลปะและวัฒนธรรมไทยล้านนา เราก็มาต่อยังตลาดน้ำโบราณ อ.เสาไห้ อยู่บริเวณริมแม่น้ำป่าสัก

ลักษณะสถาปัตยกรรมเป็นแบบเรือนแถวไม้สองชั้น ลักษณะการเปิดหน้าบ้านออกสู่ถนน เรือนแถวเหล่าแต่เดิมน่าจะเป็นร้านค้า ที่มีอยู่มากมายแต่ปัจจุบันอาจจะเงียบเหงาไปบ้างเนื่องจากความนิยมของผู้คนปัจจุบัน จากการสังเกตรูปด้านของเรือนแถวไม้เหล่านี้จะมีการเล่นระนาบของผนังไม่มากนัก จึงแสดงออกมาจากช่องเปิดด้านหน้า ที่เป็นลักษณะประตูบ้านฟี้ยมขนาดใหญ่เพื่อรับผู้คน วัสดุของการก่อสร้างเริ่มจะร่วมสมัยกว่า สองแห่งที่แล้วเราเริ่มพบเห็นสังกะสี และคอนกรีตมากขึ้น แต่วัสดุหลังและเข้าใจว่าน่าจะเป็นวัสดุดั้งเดิมจะเป็นไม้ เป็นการประยุกต์ร่วมสมัยขึ้นมาอาจจะเป็นเพราะที่นี้เป็นแหล่งการค้าที่สำคัญในอดีต

วัสดุและรูปแบบสถาปัตยกรรมก็เริ่มมีการพัฒนาผสมผสานภูมิปัญญาเก่า รวมทั้งมีการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมต่างถิ่นจากการค้าขาย

ประสบการณ์ครั้งนี้ ที่ได้มาศึกษาสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นในจังหวัดสระบุรี สิ่งที่ได้เห็นได้เกือบทุกที่คือธรรมชาติ ที่แวดล้อมอยู่กับชุมชนยังมีอยู่อย่างสมบูรณ์ ไม่ว่าจะเป็นต้นไม้ แม่น้ำ ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นปัจจัยให้วัฒนธรรม

ชีวิตความเป็นอยู่ของคนในชุมชน อยู่รวมและสอดคล้องกับธรรมชาติ โดยเฉพาะบ้านเรือน ลักษณะสถาปัตยกรรมจึงแสดงให้เห็นถึงภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่สอดรับกับ อาชีพการทำมาหากิน และบริบทแวดล้อมรอบตัว ของพวกเขา

เมื่อเวลาเปลี่ยนไป วัสดุเก่าอาจหายากขึ้น มีวัสดุใหม่เข้ามา ซึ่งหาง่าย และมีราคาถูก ทำให้เกิดการใช้วัสดุทดแทนธรรมชาติ นำมาซึ่งการประยุกต์ใช้ระหว่างภูมิปัญญาเดิมกับวัสดุสมัยใหม่ จึงทำให้เกิดสถาปัตยกรรมในรูปแบบที่ร่วมสมัย และแปลกตาไปให้เราได้พบเห็น

วันอาทิตย์ที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2553

field trip 9/1-08-53



ทริป สถาปัตยกรรมไทยพื้นถิ่น วันที่ 9 / 1 ส.ค.53

และแล้วการเดินทางของเราก็มาถึงวันสุดท้าย เวลาชั่งผ่านไปเร็วมาก เราเก็บกระเป๋า แล้วออกเดินทางไปยัง จังหวัดพิษณุโลก เพื่อไปยังวัดราชบูรณะ เป็นวัดในสมัยสุโขทัย มีการบูรณะหลายรอบ

อ.จิ๋ว บรรยายว่า ถ้าเป็นสมัยสุโขทัยแท้ๆ จะจะไม่มีหน้าต่าง เนื่องจากมีการบูรณะหลายครั้งทำให้มีการทำหน้าต่างขึ้นมา แต่ยังเป็นโครงสร้างสุโขทัย ในวิหารเดิมจะเห็นลายกระเบื้องหลังคางดงาม แต่ปัจจุบันถูกปิดแนว ทำให้ลดความงดงามลงไปมาก ผังบริเวณโดยรอบบางส่วนยังคงเป็น ลานดินทราย แต่บางส่วนได้เป็นลานปูน

วัดต่อมาที่เรามาถึงคือวัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรวิหาร ที่หลายคนมักจะมานมัสการ พระพุทธชินราช วิหารหลวงที่ประดิษฐาน พระพุทธชินราชจะมีวิหารคดโอบรอบไว้

และมีวิหารทิพย์อีก 2 วิหารเชื่อตรงกับวิหารคต ความงดงามของพระพุทธชินราช ที่อยู่ในวิหารหลวง เป็นสิ่งที่ทำให้ บรรยากาศภายในดูอลังการตระการตามากทีเดียว การวางผังบริเวณของวัด เป็นรูปแบบของสุโขทัย ที่เราได้ไปดูที่อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย และศรีสัชนาลัย ทำให้เราได้เห็นภาพว่าที่เมืองสุโขทัย มีสถาปัตยกรรมที่สมบูรณ์เป็นอย่างไร เราได้พักทานข้าวเที่ยงกันที่นี่เลย ต่อจากนั้นก็เดินทางกลับสู่กรุงเทพมหานคร

จากการที่เราได้พบประสบการณ์ แปลกใหม่ ในเวลา 9 วันมานี้ทำให้ผมเปลี่ยนทัศนคติและมุมมองใหม่ๆ ในการมองดูความงามของสิ่งรอบตัว ถึงแม้ว่าสิ่งนั้นจะดูแล้วไม่เป็นระเบียบ หรือมีแบบแผนที่ชัดเจนก็ตาม และเรื่องของการอนุรักษ์ สถาปัตยกรรมพื้นถิ่น ให้ดำรงในอัตลักษณ์ของเดิมเอาไว้ ถึงแม้ว่าในตอนนี้ผมยังมีประสบการณ์ไม่มากนัก แต่อย่างน้อยก็เป็นจุดเริ่มต้นให้ผม มีสำนึกในการรักษาคุณค่าความเป็นของเดิมไว้ ไม่ให้สูญเสียคุณค่าไป ทั้งหมดนี้ต้องขอขอบคุณ อาจารย์ จิ๋ว และอาจารย์ทุกๆท่านที่ได้ร่วมเดินทางไป ในครั้งนี้ และเจ้าของสถานที่ๆต่างๆที่พวกเราได้ไปรบกวน ในครั้งนี้

สุดท้ายต้องขอขอบคุณ อาจารย์ ไก่ ด้วยเพราะได้ให้เราทำบล็อกเหล่านี้เกิดขึ้นมาได้ ทำให้ผมได้เป็นการทบทวนตัวเอง และทบทวนประสบการณ์ที่ผ่านศึกษาสถาปัตยกรรม พื้นถิ่นไทย ที่มีคุณค่าครั้งนี้

field trip 8/31-07-53



ทริป สถาปัตยกรรมไทยพื้นถิ่น วันที่ 8 / 31 ก.ค.53

เข้าสู่วันที่ 8ของการเดินในทริปนี้ เราเดินทางมายัง อ.กงไกรลาศ 2 ข้างทางเป็นเหมือนตลาด ห้องแถวเรือนไม้ 2 ชั้น ที่นี่เราได้มีโอกาสมายัง บ้านของ คุณลุงและคุณป้าของ อ.ตี๋ ซึ่งมีลักษณะเป็น ห้องแถว 2ชั้น บ้านหลังนี้มีลักษณะของเดิมอยู่มาก คุณลุง เจ้าของบ้านยังอนุรักษ์ ของเก่าไว้มาก มีการตกแต่งโดยนำเครื่องมือเครื่องใช้ของเก่า ผสมผสานกันอย่างลงตัว

สวนหลังบ้านก็ตกแต่งแบบร่วมสมัย มีไม้พุ่มตัดแต่งกิ่ง และต้นไม้ดอกไม้ผล แบบไทย เราได้ฟังการเล่าประสบการณ์ของคุณลุง เกี่ยวกับชีวิตส่วนตัว และประวัติศาสตร์ของอำเภอนี้

เราเดินต่อมายังบริเวณเกาะกง และได้พบกับบ้านเรือนที่มีลักษณะยกใต้ถุนสูงมากซึ่งน่าจะเพื่อกันน้ำท่วม รูปแบบเป็นบ้านไม้ที่ส่วนมากจะเป็นหลังคาสังกะสี

ใต้ถุนที่ยกสูงมากยังมีไว้เพื่อการเก็บอุปกรณ์ทางการเกษตร เพราะที่นี่ยังมีการทำนาเป็นอาชีพหลักกันอยู่

เมื่อถึงเวลาเที่ยงเราได้มีโอกาสทานข้าวที่บ้านคุณลุง ของ อ.ตี๋ ซึ่งคุณลุงก็ใจดี เลี้ยง ก๋วยเตี๋ยว ผัดไทย และขนมต่างๆอีกมากมาย ซึ่งมื้อนี้เราอิ่มเต็มที่มาก และอาหารทั้งหมดก็อร่อยด้วย ต้องขอขอบพระคุณ คุณลุง คุณป้า และทุกๆท่านที่บ้านหลังนี้ มา ณ ที่ด้วย

เราออกเดินทางจาก กงไกรลาศ มายังสนามบินสุโขทัย ต่อ ที่นี้เป็นสนามบินของบริษัท บางกอกเอวเวย์ ซึ่งออกแบบโดย รุ่นพี่สถาปัตยฯ ลาดกระบังของเรา ซึ่งมีลักษณะสถาปัตยกรรมแบบสุโขทัย

โดยการนำเอาสัดส่วน สเกล รวมทั้งวัสดุพื้นถิ่นของสุโขทัย มาใช้ให้เป็นงานสมัยใหม่ ทำให้เป็น

งานร่วมสมัยที่น่าสนใจมาก

ต่อจากนั้นทางสนามบินก็พาเรามายัง โรงแรมสุโขทัย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสนามบิน เป็นโรงแรมระดับ 4 ดาว ลักษณะทางสถาปัตยกรรมจะเหมือนกับตัวสนามบิน วัสดุที่ใช้เป็นของท้องถิ่นแล้สื่อให้เห็นถึงเอกลักษณ์ของสุโขทัย

มีลักษณะที่สำคัญคือ กำแพงอิฐเปลือย ซึ่งเข้ากันได้ดีกับตัวงานสมัยใหม่ในแบบ modern

จากนั้นเราก็ย้อนกลับมาที่ ศรีสัชนาลัย อีกครั้งเพื่อเข้าไปยังหมู่บ้าน เป็นบ้านเรือนที่ประยุกต์ใช้วัสดุใหม่ ที่เป็นสังกะสี อยู่มาก มีการแก้ปัญญาวัสดุเก่ากับใหม่ด้วยภูมิปัญญาชาวบ้าน แบบง่ายๆ แต่ระนาบผนังที่เกิดก็มีความน่าสนใจ และสวยงามทีเดียว

ในช่วงนี้ก็เป็นช่วงสุดท้ายที่เราจะได้ มีประสบการณ์การออกทริปแบบนี้ ผมจึงเต็มทีด้วยการกดรูปเอาไว้ให้ได้มากที่สุด เมื่ออาทิตย์ตกดินก็เป็นสัญญาณว่าเราหมดเวลาลงแล้ว สุดท้ายก็ต้องเดินทางกลับโรงแรมที่พัก เพื่อเตรียมตัวกลับกรุงเทพฯในวันพรุ่งนี้