วันเสาร์ที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2553

บทสัมภาษณ์ สถาปนิกรุ่นพี่ สถาปัตย์ฯลาดกระบัง 8-10-53


ในวิชาProfessional Practice ที่ผมได้รับงานชิ้นสำคัญอีกครั้งหนึ่ง งานนี้คือการสัมภาษณ์รุ่นพี่สถาปัตย์ฯลาดกระบัง ครั้งนี้ผมได้มีโอกาสสัมภาษณ์และได้พูดคุยกับรุ่นพี่ สถ. ท่านหนึ่งชื่อพี่โกวิท (ขออนุญาตเรียก พี่โก นะครับ) ซึ่งจบมาแล้วประมาณ 19 ปี ซึ่งการสัมภาษณ์และพูดคุยครั้งนี้ผมได้รับประสบการณ์ที่มากมายจากรุ่นพี่ ท่านนี้มากทีเดียว รุ่นพี่ท่านนี้เป็นรุ่นเดียวกับ อ.เจ๋ง อ.วิวัฒน์ อ.โก้ และ อ.น้อยหน่า ผมได้โอกาสมายัง office ของรุ่นพี่ท่านนี้ เป็น office เล็กๆที่ไม่ใหญ่มาก ก่อนการสัมภาษณ์อย่างเป็นทางการ ก็ได้พูดคุยกันเล็กๆน้อยๆ พอดีว่าพี่โก เป็นคนเล่นกล้องด้วย พี่โกเลยเอากล้องและเลนส์เทพของพี่ มาให้ผมลองเล่น เราก็เลยได้คุยกันยาวนิดนึง ก่อนการสัมภาษณ์ .....
ประวัติส่วนตัวเล็กๆน้อยๆครับ?

พี่ชื่อ โกวิท มโนภิรมย์ ปัจจุบัน อายุ 40ปี

เข้าเรียนปี พ.ศ. 2531

จบปี พ.ศ. 2535

ปัจจุบันเป็น Director ของบริษัท เบรเนีย นรินทร์ สถาปนิก จำกัด หรือ BNA ARCHITECTS

ซึ่งหน้าที่ของพี่ที่บริษัท นี้ก็เรียกได้ว่าทำเกือบทุกอย่าง ใน office เนื่องจากเป็น บริษัทเล็กๆ ที่ไม่ใหญ่โตมาก แต่จากตำแหน่ง คือชื่อในการเช็นงานของ office งานหลักๆของพี่คือรับงานช่วงต่อ หรือแบบก่อสร้างที่มาจากรุ่นพี่ที่ดีไซน์มาแล้ว จนไปถึงการก่อสร้างและแล้วเสร็จ

ตอนเรียนจบสถาปัตย์ มาแล้ว พี่โก ได้เรียนต่อปริญาโท ที่ไหนหรือเปล่าครับ?

ไม่ได้ต่อที่ไหนเลย เคยสอบเหมือนกันสอบไป 2 รอบ ต่อสถาปัตยกรรมเขตร้อนฯ ที่ลาดกระบังนี่แหละ รอบแรกสอบติดพร้อม อ.เจ๋ง รุ่นเดียวกันแต่ไม่ได้เรียน เพราะช่วงนั้นต้องทำงาน หาเงิน

จากที่พี่โก สอบ ป.โท อยากเป็นอาจารย์ หรือเปล่า ครับ?

ไม่เลย ไม่ได้อยากเป็นเลย แล้วก็พวกงานออกแบบก็ไม่ได้คิดอยู่ในหัวด้วย เรื่องที่คิดว่าจบมาแล้วเป็นสถาปนิก คิดน้อยมาก...ใจจริงอยากไปเรียนต่อทางด้านถ่ายภาพ ช่วงที่เรียนสนิทกับอาจารย์ธเนศ วันๆไม่ทำอะไรชอบอยู่ที่ห้องมืด ....

พอไม่ได้เรียนต่อ แล้วพี่โกทำงานอะไรเป็นงานแรกหลังจากเรียนจบมาครับ?

พอเรียนจบก็มาทำงานเลย ที่บริษัทของรุ่นพี่ เป็นงานออกแบบ ทำอยู่ 3-4 เดือน ก่อนรับปริญญา จากนั้นก็มาทำกับรุ่นพี่ที่รู้จักกัน คือพี่ยงยุทธ แล้วก็รุ่นพี่จุฬา อีกท่าน เป็นงานออกแบบอีกเช่นกัน ชื่อบริษัท BNNA จนถึงช่วงปี 40 เริ่มไม่ค่อยดี ก็ลำบากมาก ทำให้ต้องแยกย้ายกันไป พี่ยงยุทธก็ไปทำรับเหมาของตัวเอง ส่วนพี่ก็ออกทำรับเหมา ก็มาช่วยงานรับเหมากับรุ่นพี่ ที่เป็นพี่ 15 ปีทำอยู่ 3 ปี แล้วก็ออกมาทำรับเหมาเอง ทำกับเพื่อนๆกัน ทำอยู่ 3-4ปี ช่วงนั้นเหนื่อยมาก ทำงานมาก็ยังไม่มาก ไม่กี่ปีเท่านั้น ประกอบกับเหตุการณ์วิกฤตการณ์ ปี 40 จริงๆแล้วมันเริ่มช่วง ปี 39 ช่วงนั้นมืดมนมาก... ลำบากมาก....รับเหมางานบ้าน ต่อเติม เล็กๆน้อยๆ 2 ปี

แล้วพี่ก็เลิกทำรับเหมา กลับมาทำงานกับรุ่นพี่จุฬาที่เคยทำ BNNA ด้วยกัน ก็ยังพอมีงานบ้าน เข้ามาบ้าง เลยรับตัดโมเดล ตัดสนุกๆ ตอนนั้น ......อย่าว่าแต่แบงค์สีม่วงเลย หาแบงค์สีแดงยังลำบากเลย.....คือหาเงินไม่ได้ เดือนๆหนึ่ง....ลำบาก...

หลังจากนั้นก็มาทำ ที่บริษัท RMJM เป็นบริษัทออกแบบ และเป็นบริษัทต่างชาติ ด้วยความที่เป็นบริษัทต่างชาติมาตรฐานการเขียนแบบจึงดีมาก และด้วยที่พูดภาษาอังกฤษไม่ได้ เลยได้เป็นแค่ draf man ทำอยู่ได้ไม่นานเพราะเขารับเป็น แค่ contect ชั่วคราว ไม่ได้เป็นพนักงานประจำ ต่อจากนั้นก็ออกมาทำรับเหมาอีกครั้ง เพราะ RMJM ไม่ได้ต่อให้ ทำรับเหมาอยู่ไม่นาน

แล้วก็กลับไป ที่ RMJM อีกรอบ เป็น contect เหมือนเดิมงาน draf เหมือนเดิม ช่วงหลังนี้ก็ได้มารู้จักกับรุ่นพี่ลาดกระบังชื่อพี่น้อย เป็นเพื่อนรุ่นเดียวกับ อาจารย์ไกรทอง พอดีกับตอนนั้นมี project ประกวดแบบโรงแรม ชื่อโรงแรม การ์เด้นคลิฟ รีสอร์ท แอนด์ สปา พัทยา อยู่แถวพัทยากลาง เลยออกมาทำแต่งานประกวดแบบกับ พี่น้อย อย่างเดียว ทำกันเองหมด ตั้งแต่แบบร่างจนไปถึงตัดโมเดล โดยที่ไม่ได้มีงานนอกอย่างอื่นเลย เรียกได้ว่า ชีวิตจะเป็นยังไงก็ขึ้นอยู่กับงานประกวดแบบนี้แหละ และแบบที่ส่งประกวดนั้นก็ชนะการประกวดแบบ ได้สร้างจริง.....แต่ก่อนหน้านั้นทางบริษัท RMJM ก็ติดต่อมาให้ไปเป็นพนักงานประจำแต่พี่ ก็ไม่ไปเพราะอยากทำงานประกวดแบบ และคิดว่าช่วงนั้นเศรษฐกิจเริ่มดีขึ้น เราเริ่มเห็นทาง น่าจะมีช่องทางขึ้นอยากทำงานเองมากกว่า เพราะคิดว่าเมื่อก่อนเราทำรับเหมา เราก็อยู่เองได้.... จากนั้นก็มาทำ office BNA ตอนปี 45 มีกันอยู่ 3 คน office เล็กๆเป็นตึกแถวคูหาเดียว แถวตลิ่งชัน ทำงานกันเองหมด ตัดโมเดลเอง จะมีช่วงทำแบบก่อสร้าง จะจ้างข้างนอกเขียนเพราะแบบเยอะมาก ช่วงนั้นก็เริ่มมีงานมาเรื่อยๆ จนถึงปัจจุบัน งานที่ office ทำ ก็จะเป็นศูนย์กีฬา โรงแรม ส่วนใหญ่จะบ้านมากกว่า

ช่วงวิกฤตการณ์ปี 40 ช่วงนั้นมันแย่ขนาดไหนครับพี่?

แย่มาก ลำบากมาก ลำบากทุกคน มันมืดไปหมด เรามองไม่เห็นทางข้างหน้า มันไม่มีกินไม่มีใช้ คืออาชีพเราต่อไปจะทำได้มั้ย ต่อไปจะมีคนมาสร้างบ้านหรือเปล่า พี่ทำงานไม่มี back up ข้างหลัง ไม่ได้มี support ครอบครัวไม่ได้มีธุรกิจอะไร

แล้วช่วงนั้นพี่ผ่านมันมาได้อย่างไรครับ?

ก็แถกๆ ไป....มันคือเราไม่เห็นหนทาง แต่พอถึงตอนนั้นถึงจุดนั้น เราคิดอย่างเดียวว่า อะไรที่เรารู้สึกว่ายังไม่คิด ไม่เคยทำ เราก็เปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาส อะไรที่เราทำได้เราก็ทำ อะไรที่ไม่เคยทำเราก็ทำ อะไรที่หัดได้ก็ทำ ทำทุกอย่าง เช่น คอมพิวเตอร์ ช่วงนั้นลุ่มๆดอนๆ บางทีก็หยิบยืมจากเพื่อนบาง มีงานออกแบบมาบ้างเล็กๆน้อยๆ

ในมุมมอง พี่คิดว่าในอนาคตจะมีโอกาสเกิดเหตุการณ์แบบ วิฤตปี 40 หรือเปล่าครับ?

ไม่เป็นหรอก เป็นไปไม่ได้ คือเพราะว่าน่าจะมีคนคิดเหมือนเราเยอะ คนจะระวังตัว จะทำอะไรก็.....เหมือนที่ในหลวงว่าแหละ อย่างว่า...ยืมคำพูดนั้นมาใช้ “พอเพียง” หัดรู้จักคิดเผื่อไว้บาง ไม่ใช่ลุยแหลกไม่รู้วันข้างหน้าจะเป็นอย่างไร....ใช้เงินกันฉิบหาย...


โรงแรม Garden Cliff Resort & Spa Pattaya


พี่โกคิดว่า งานรับเหมาที่เคยทำมากับงาน office ต่างกันอย่างไร?

ต่างกันตรงที่ อาชีพอย่างเราเป็นนักออกแบบ มีความเป็น professional แต่ผู้รับเหมาไม่มีตรรกะ การยอมรับทางสังคมมันต่างกัน อย่างเราถ้าไปพบลูกค้า ลูกค้าจะให้เกียติมากกว่า ส่วนผู้รับเหมาก็จะถูกมองอีกแบบหนึ่ง ยิ่งถ้าเราเป็นสถาปนิก แล้วมาเป็นผู้รับเหมาคนก็จะมองว่าทำไม่รอดแน่.. คืออาชีพอย่างเราไปทำรับเหมาจะประสบความสำเร็จไม่เยอะ เรายังมีความห่วงใยกับเราอะไรบางเรื่องที่ผู้รับเหมาไม่มี อย่างเช่น เราไปห่วงเรื่องดีไซน์มากเกินไป detail ที่เราละทิ้งได้แต่เราเป็นห่วงขึ้นมา คือผู้รับเหมามันต้องรู้จักจะกลิ้งไปกลิ้งมา มันไม่มีตรงไปตรงมา ถ้าถามว่าผิดมั้ย มันไม่มีผิดหรอก....

ตอนที่พี่ทำรับเหมาต้องมีเงินทุนมากหรือเปล่าครับ?

ไม่เยอะ ตอนนั้นงานรับเหมาไม่ใหญ่อะไรมาก งานรับเหมา แสน-2แสน เดือน-2เดือนก็จบ เป็นงานบ้าน ต่อเติม แล้วก็มีบาร์เกย์ ตรงสีลม ซอย 2 สนุกดี ตอนนี้รื้อไปแล้ว เหนื่อยมากทำกับเพื่อนอีกคนหนึ่ง ตอนนั้นจำฝังใจเลย ไม่ค่อยได้นอน นอนวันละ 2-3 ชั่วโมง นี่คือที่บอกว่าความต่างของคนที่เกิดเป็นผู้รับเหมากับอาชีพอย่างเรา เรียกว่ารับผิดชอบคนละแบบเพราะผู้รับเหมาจะมีความรับผิดชอบอีกแบบหนึ่ง เราจะมีความรับผิดชอบอีกแบบหนึ่งอาจจะไม่ได้เรียกว่ารับผิดชอบก็ได้ เรียกว่าการผลิกแผลงของการใช้ชีวิต อาชีพอย่างเรายังใช้ชีวิตแบบตรงไปตรงมามาก คือเราเห็นอย่างไรก็ทำไปอย่านั้น อันนี้อาจจะกลายเป็นบุคลิกส่วนตัวก็ได้

โครงการอาคารที่จอดรถและสำนักงาน สวนมะลิ :บริษัท กรุงไทย พร็อบเพอร์ตี้ ดีเวอร์ลอปเม้นท์ จำกัด

ตอนที่พี่ทำงานมีอุปสรรคอะไรบ้างครับ?

อะไรคืออุปสรรค....ทำอะไรไม่มีอุปสรรคมั้ง..ขับรถยังติดไฟแดงเลย 555+ ทำอะไรก็มีอุปสรรคทั้งนั้นแหละ...

อุปสรรคในการประกอบวิชาชีพ อ่ะครับพี่?

มีตลอดแหละ มันไม่ถือเป็นอุปสรรค....แต่มันเป็นส่วนหนึ่งของการทำงาน....อุปสรรคมันมีอย่างเดียวคือไม่มีงาน...ถ้าเมื่อไรมีงาน...มันไม่มีอุปสรรค....จำไว้ว่า สักวันเมื่อเรา(น้อง) ได้ทำงาน เขาเรียกเรามาแก้ปัญหา แล้ว แสดงว่าเขามั่นใจว่าเราแก้ปัญหาให้เขาได้ ถ้าเมื่อไรที่เราทำงานชิ้นนั้นหรือแก้ปัญหาไม่ได้ แสดงว่าไม่กูหรือมึงผิด...หมายถึงว่ามึงใช้ผิด สองมึงรู้ว่ากูทำได้แต่กูไม่ทำ....แปลว่ากูผิดไม่ใช้มึงผิด ต่อไปเรา(น้อง)ไปทำงานเราต้องเจอแบบนี้...เจอรุ่นพี่ให้งานเราแบบนี้เราก็โว้ยวายงี้ๆ...คือบางครั้งความเป็นเด็กเรามองอะไรไม่รอบด้าน เรามองอะไรไม่ครบ เราใช้ความเป็นอีโก้ไปต่อต้านไว้ก่อน..เราต้องมองว่า เขามองเห็นเราทำได้จริงหรือเปล่า...ถ้าเขามองเห็นปัญหาเดียวกับเรา คือมึงอาจเคยจะทำไม่ได้...แต่มึงควรจะทำให้ได้หมายความว่าเราควรไปหาทางทำให้ได้....ยิ่งถ้าเราเองไปรับ project มาทำเอง ไม่มีสิทธิ์บอกหรอกว่าทำไม่ได้...ไม่มีสิทธิ์...ถ้าทำไม่ได้ก็มีคนอื่นทำ...แสดงว่าเรายังเตรียมตัวเองพร้อมไม่พอ.

พี่โกถามกลับ : โชคคืออะไร??

โอกาส ครับ....

เวลาเราบอกว่าคนมีโชค.. ไม่มีโชค...จริงๆโชคคือ โอกาส + การเตรียมพร้อม ในเมื่อโอกาสมันไม่มาหาเรา ... เราบอกว่าไอ้นี่ มันมีโชคดี มันได้งานถ้ามันทำงานไม้ได้....หมายความว่าไง...หมายความว่าโอกาสมี แต่มันไม่เตรีมที่จะทำงานเลย ก็เลยกลายเป็นคนมีโอกาสแต่ไม่มีโชค

บางทีเราด่าว่าโชคไม่เข้าข้าง....เปล่า..บางที่เราเตรียมพร้อมไม่ดีเลย...บางทีถ้าเรามองเรื่องนี้เป็นเวรเป็นกรรมไปตลอดอะ...สุดท้ายเราก็ไม่ไปถึงไหน...เราทำไม่ได้เขาก็หาคนอื่นที่ทำได้....เราก็ต้องถามว่าทำไมแล้วไอ้นั้นทำได้ เราทำไม่ได้...เราก็ต้องถามกลับไปว่า เราก็เรียน 5 ปี คนอื่นก็เรียน 5 ปี คือถ้าพูดคำว่า อุปสรรค ก็คือหมายความว่า ไม่สู้...มีเรื่องแล้วก็ไม่พยายามหาทางจัดการปัญหาให้เรียบร้อย มีแต่บ่น มีแต่ท้อแท้ มีแต่สิ้นหวัง ไม่สู้ต่อ ...ใครผิดละ คนให้งานผิดหรือเปล่า....เพราะฉะนั้นอุปสรรคอย่างเดียวคือไม่มีงาน นั่นแหละ...อุปสรรคที่มาจากคนอื่นน่าจะเป็นการที่ ทำอย่างไรเขาถึงจะให้งานเรา

พี่โกมีข้อคิดสำคัญหรือหลักการในการทำงานอย่างไรบ้างครับ?

คือถ้าเราทำงานไม่ได้...จะมีคนอื่นทำงานแทนทันที เหมือนที่เวลาผู้รับเหมามาที่ office ก็พูดเลยว่าทำไม่ได้ พี่ก็บอกว่าไม่เป็นไร มีคนอื่นทำ...คือมันมีคนอื่นที่พร้อมจะทำแทนอยู่แล้ว

พี่มีความคิดเห็นอย่างไรเกี่ยวจรรยาบรรณวิชาชีพ?

จริงๆ มันเป็นสิ่งที่เราควรทำอยู่แล้วละ ทำให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้.....จริงไม่ได้ไปอ่านด้วยนะ..จริงๆมันเป็นกฎของความมนุษย์ทุกคน ที่ควรจะปฏิบัติ ไม่ต้องไปบอกหรอกว่าเป็น กฎของทนายความ กฎของแพทย์ กฎของสถาปนิก ไม่จำเป็น จริงมันคือเป็นกฎของความเป็นมนุษย์อะ...ทุกคนอยากเป็นมนุษย์ปกติ แต่พอมนุษย์มีอาชีพนี้ ก็เพิ่มอีกหน่อยเอง...แต่เรื่องบางอย่างไม่มีมนุษย์คนไหนทำได้หมดหรอก...มนุษย์ปกติถือศีล 5 หมดเป็นไปไม่ได้หรอก มันอยู่ที่ เราทำเกินกับเราทำขาด...ก็จะพยายามทำอะไรไม่ให้คนอื่นเดือดร้อน...

พี่คิดเห็นอย่างไรกับการออกแบบเพื่อสิ่งแวดล้อม?

มันเป็นคำพูดสวยหรู ของคนที่เขียนกฎออกมา...

แล้วทุกวันนี้อาชีพเราทำได้มากน้อยแค่ไหนครับ?

อยู่ที่เราบัญญัติคำว่าสิ่งแวดล้อมคืออะไรด้วย...บางที่ก็เบื่อเรื่องนี้เหมือนกัน...ก็เรื่องของเรื่องก็คือเรื่องที่เราทำอยู่แล้วทุกวันอะ...เป็นเรื่องของความเป็นมนุษย์...เป็นเรื่องปกติ ที่เราทำอยู่แล้ว

แต่ตอบว่าไม่คิดว่าจะลงไปคลุกกับเรื่องนี้...แต่พอถึงเวลาจริงถ้ามีการตรวจบังคับขึ้นมา เราก็ไปหาคนที่ด้านนี้อยู่โดยเฉพาะ มีคนอื่นทำเรื่องนี้ต่อจากเราอยู่ เราคิดเฉพาะขั้นต้น ซึ่งตอนนี้ กว่าเราจะทำตึกแล้วขอนุญาตผ่าน เรื่องเยอะแยะ...จะตายอยู่แล้ว....ไม่ได้มีเวลา...

หน้าที่รับผิดชอบของพี่ที่ office นี้พี่ทำอะไรบ้างครับ?

ดูเรื่อง drawing ลงมา คือรับแบบ design มาจากพวกพี่เขา บางครั้งก็มี design บาง ดูเรื่อง ทำพรีริม ทำ แบบพร็อบโพโซล คือตอนนี้อย่างเวลางานที่จะมาถึงมือเราอะ...เวลาเยอะจริงแต่เวลาที่ผ่านช่วง design มาถึงมือเราจะเหลือเวลาอีกไม่เยอะไง เราต้องขับเคี่ยวกับเวลา ...ให้ทัน ..ให้ทันกับทุกอย่าง ทุกขั้นตอน ทั้งขออนุญาต ทั้งตอนก่อสร้าง ช่วงตอนก่อสร้าง เราก็ยังต้องทำแบบไปด้วย คนที่นี่มีน้อย...

มีเหตุผลอย่างไรที่ office นี้มีขนาดไม่ใหญ่มากนัก ครับ?

ก็มีกันอยู่ 6 คนพอแล้ว...ก็ไม่คิดว่าจะไม่ใหญ่มากกว่านี้ เต็มที่ไม่เกิน 10 คน ต่อให้งานเยอะแค่ไหนก็ไม่มากไปกว่านี้แล้ว...เพราะว่าเราคิดว่าจะทำ office สเกลเท่านี้ มากกว่านี้เราจะใช้วีธีการ ส่งงานออกข้างนอก ใช้วิธีการบริหารมากกว่า ก็จบลงที่เดิม ที่ว่า “เมื่อไรที่เราทำไม่ได้ก็มีคนทำ” มีปรัชญาอีกปรัญาหนึ่ง เรียกว่า ปรัญชา มะนาว คือมีคนปลูกมะนาวอยู่คนหนึ่ง เคยส่งมะนาวให้คนในตลาดขาย ช่วงหนึ่งมะนาวเกิดมีราคาแพง คนปลูกมะนาวเลยเอามะนาว เป็นร้อยกิโลไปขายเอง ปกติส่งมะนาวเป็นร้อยกิโลให้คนอื่นได้หมด แต่เอามาขายมะนาวขายเองขายไม่หมด สุดท้ายมะนาวเลยเน่า คืออะไร....คือมึงอย่างก นะ...คือต้องรู้ว่าทำงานได้แค่ไหน งานมันมีเวลา ให้งานมันเสร็จ งานเรียบร้อย คือของมันมีเวลา คือเมื่อไรงานมันมีตัวแปร...เวลาขึ้นมา คนหรือ สถานที่ ใช้อะไรเป็นตัวแปร...งานชิ้นใหญ่ คนมาก เวลาเท่าเดิม อยู่ที่ว่าเราจะเอาตัวไหนเป็นตัวตั้ง มันอยู่ที่ความเหมาะสม พอดี...

พี่โกคิดว่าน้องๆรุ่นใหม่ที่จะจบ มาทำงานต้องมีคุณสมบัติอะไรบ้าง?

คือจริงไม่ต้องอะไรมากหรอก ....อย่างที่นี่ก็จบมาทำงานได้ มีความรับผิดชอบในตัวเองพอ เนี่ยนะ...เราไม่ได้คาดหวังว่าจะทำงานได้เยอะ...คาดหวังกับคนที่พร้อมจะทำอะไร มากกว่า คือพร้อมที่จะเรียนรู้ ทำไม่ได้ก็บอก....แล้วก็ทำอย่างที่รับปากว่าทำได้...ก็คือมันจะไม่เป็นภาระคนอื่น แล้ว เราจะคาดหมายได้ว่า เขาจะทำได้เท่านี้นะ...แต่บอกเท่านี้ เขารับผิดชอบงานของตัวเองเสร็จ ....ทุกคนจะสบายใจ ทุกคนไม่ใครทำอะไรได้ที่ 100% หรอก แต่ถ้าทำไม่ได้แล้วไปรับปากเขาว่าจะทำได้ พอทำไม่เสร็จ มันจะเดือดร้อน ยกเว้นแต่บอกพี่มาก่อนว่า ผมจะทำไม่เสร็จได้เท่านี้ ต้องการหาคนช่วย อันนี้ได้....ไม่เป็นไร ไม่ใช่ทำเก่งไปหมด...หรือท้อแท้ไปหมด..อันนี้ก็ไม่ใช่ ทุกอย่างต้องมีจุดสมดุล มีความพอดี เราต้องรู้ตัวเราเอง ก็คือเราต้องเคารพตัวเองได้ คนเขาอื่นก็เคารพเรา เท่านี้แหละที่รุ่นพี่จะคาดหวัง จริงๆพี่ไม่ได้คาดหวังอะไรมากหรอก

ไม่ได้คาดหวังว่าเด็กใหม่ๆจะทำไรได้มากหรอก อยากให้เด็กรุ่นใหม่ๆ ความรับผิดชอบมากกว่า เป็นเรื่องสำคัญ เหมือนทำ thesis แหละ เราทำเสร็จ เราทำได้แค่นี้แหละ เราตั้งใจ เราพยายามแล้วได้เท่านี้แหละ เวลามีเท่านี้ มีความสามารถเท่านี้ เหมือนเขามีเส้นให้แค่นี้ ถ้าจะโดนอะไรมาก็พร้อมรับได้.....

จบการสัมภาษณ์พี่โกก็ยังชวนกินขนม ไส้กรอกที่ office อีกและเราก็ได้คุยกันต่ออีกเล็กๆน้อยๆก่อนจะบอกลา ขอบคุณพี่ๆใน office ก่อนกลับ

สุดท้ายผมต้องขอขอบคุณพี่โกวิทในความอนุเคราะห์ กับรุ่นน้องที่สละเวลาให้สัมภาษณ์และพูดคุยประสบการณ์การทำงาน และการใช้ชีวิต ซึ่งเป็นประโยชน์กับผมมากทีเดียว เมื่อเวลาที่ผมจะได้ออกไปทำงานในวิชาชีพนี้ และขอขอบพระคุณอย่างยิ่งกับ คุณพ่อพี่หวาน คุณยงยุทธ ศรีอุทัย และ พี่หวาน สถ.6 ด้วยครับ ที่ช่วยติดต่อในการสัมภาษณ์ครั้งนี้

ที่ขาดไม่ได้คือ ขอขอบพระคุณ อาจารย์ไก่ ไกรทอง ผู้สอนวิชา Professional Practice ที่ได้มอบหมายงานชิ้นสำคัญ ที่มีประโยชน์ต่อ น้องๆ สถ.5 ที่จะจบออกไปประกอบวิชาชีพที่ดีในอนาคต

ขอบคุณครับ....



สถานที่สัมภาษณ์ : บริษัท เบรเนีย นริทร์ สถาปนิก จำกัด ,ถ.บรมราชชนนี ตลิ่งชัน กรุงเทพฯ

วันที่ : 8 ตุลาคม 2553 เวลา : 16.30 น.

ผู้ให้สัมภาษณ์ : คุณ โกวิท มโนภิรมย์, Director

สัมภาษณ์, เรียบเรียงบทสัมภาษณ์ : วชิระ หินอ่อน