วันเสาร์ที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2553

ชุมชนทุ่งครุ แสมดำ พระราม2 /อาศรมศิลป์ 7ก.ค. 53

ชุมชนทุ่งครุ บางขุนเทียน
ชายทะเล พระราม2 (10 ก.ค. 2553)
วิชาสถาปัตยกรรมไทยพื้นถิ่น

ในวิชาสถาปัตยกรรมไทยพื้นถิ่น อ.จิ๋ว นำเราไปพบกับชุมชนย่านทุ่งครุ ที่มีสภาพพื้นที่เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ เนื่องจากใกล้กับ พื้นที่บางขุนเทียนชายทะเล มีลักษณะที่น้ำทะเลจากปากอ่าวเข้ามาขังเป็นพื้นที่กว้าง และมีน้ำจืดที่มารวมเข้าด้วยกันจาก คลองสนามชัย พืชพรรณที่พบเห็นได้ส่วนมากจะเป็นไม้โกงกาง และป่าแสม ซึ่งนำมาทำเผาเป็นถ่าน โดยกลุ่มบ้านเรือนที่เราได้มีโอกาส เข้าไปดูนั้น เป็นบ้านที่มีลักษณะชั้นเดียว ยกพื้นสูงไม่มากนัก มีลักษณะการวางผังแบบกลุ่มรูปแบบหลังคาทรงจั่ว วัสดุหลังคาที่โดดเด่นคือ จาก และไม้ไผ่ เป็นวัสดุท้องถิ่นที่หาได้ง่าย มีอยู่โดยทั่วไป

เป็นภูมิปัญญาของชาวบ้าน ซึ่งรูปแบบบ้านเรือน รวมไปถึงการวางผังนั้นทำให้เรา พอที่จะทราบถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ ที่มักจะอยู่แบบครอบครัวใหญ่ แบบหมู่ญาติเดียวกัน หากมีครอบครัวที่เพิ่มขึ้นก็จะ สร้างบ้านแบบขยายเป็นหลังๆ ออกไปในบริเวณที่ใกล้ๆกัน และสิ่งแรกที่เราจะเห็นได้เมื่อเข้ามาถึงบริเวณกลุ่มเรือนแต่ละหลัง จะเห็นแผ่นไม้ที่จะยกเป็นทางเดินเชื่อมระหว่าง บ้านแต่ละหลัง ซึ่งส่วนตัวผมแล้วผมคิดว่าเปรียบได้กับ platform หรือ deck ที่ใช้ในงานสมัยใหม่ เช่นในงานโรงแรม รีสอร์ท แต่จริงๆแล้วแผ่นไม้ทางเดินเหล่านั้นน่าจะมีไว้ เพื่อเป็นทางเดินในเวลาที่มีน้ำขึ้น หรือน้ำทะเลหนุน รวมทั้งเป็นการแบ่งแยกพื้นที่ใช้สอยระหว่างส่วนต่างๆ ก่อนที่จะเข้าในตัวบ้าน ถือเป็นการออกแบบเพื่อตอบสนองกับสภาพภูมิศาสตร์ของพื้นที่ ได้อย่างเหมาะสม วัสดุที่พบเห็น

นอกจากที่จะเป็นวัสดุธรรมชาติท้องถิ่นแล้ว ก็เริ่มที่จะมีวัสดุสมัยใหม่ให้ได้เห็นในหลายส่วน เช่นหลังคาที่เริ่มจะเปลี่ยนจากหญ้าคา หรือ จาก มาเป็นหลังคาสังกะสี ที่มีสีสันมากขึ้น วัสดุอย่างเช่นคอนกรีต ก็เริ่มเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ทดแทนไม้ เพราะมีความแข็งแรงและทนทานมากขึ้น และด้วยวัสดุท้องถิ่นที่เป็นไม้หรือไม้ไผ่หายากขึ้น และวัสดุในระบบอุตสาหกรรมเข้ามามากขึ้น ชาวบ้านจึงเลือกที่จะนำมาประยุกต์ให้เข้า กับสภาพความเป็นอยู่ในให้กลมกลืนกัน พื้นที่ใช้สอยต่างๆภายในก็แบ่งอย่างเป็นสัดส่วน โดยเฉพาะการเล่นระดับพื้นได้อย่างชัดเจน มีพื้นที่เก็บอุปกรณ์ที่ประกอบอาชีพอย่างชัดเจน ที่ทำให้เราทราบถึงอาชีพหลักของชาวบ้านที่นี้ คือการจับสัตว์น้ำ เช่น ปลา และปู

และสังเกตได้จากการที่มีพื้นที่เป็นชาน ที่สำหรับทำปลา หรือขอดเกล็ดปลา มีการใช้ไม้ไผ่ตั้งเป็นราวแขวนแบบง่ายๆ เพื่อแขวน แหหรืออวน แสดงถึงวิถีชีวิต ประจำวันของชาวบ้านแถบนี้ได้อย่างชัดเจน อากาศในวันนั้นร้อนมากเพราะเป็นเวลาช่วงบ่ายโมง แต่ถ้าหากเราเข้ามาอยู่ในบริเวณที่เป็นบ้านมีหลังคาที่ทำจากวัสดุธรรมชาติ แล้วความรู้สึกที่ร้อนจะเปลี่ยนเป็นเย็นสบาย ซึ่งก็เป็นประโยชน์ของการใช้วัสดุธรรมชาติในการก่อสร้างด้วย

หลังจากที่ได้ดูสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นที่ย่านทุ่งครุนี้แล้ว เราก็เดินทางต่อมาจากบริเวณเดิมไม่มากนัก มายังพื้นที่ของสถาบันอาศรมศิลป์และโรงเรียนรุ่งอรุณ ส่วนแรกที่เราเข้ามาชมจะเป็นส่วนของโรงเรียนรุ่งอรุณ ที่เป็นโรงเรียนทางเลือก การเรียนการสอนจะแตกต่างจากโรงเรียนโดยทั่วไป จากการที่เดินเข้ามาครั้งแรกของผม บรรยากาศโดยทั่วไปภายในโรงเรียนและตั้งแต่ที่รถเข้ามาทำให้เห็นว่าที่นี่มีการจัดวางผังบริเวณ ได้สอดคล้องกับธรรมชาติให้มากที่สุด ยังพบเห็นต้นไม้ใหญ่ซึ่งเชื่อว่าน่าจะเป็นของเดิม

รวมทั้งการวางอาคารให้สอดแทรกกับธรรมชาติได้อย่างลงตัว เพียงเท่านี้ก็ทำให้รู้ทันทีว่าบรรยากาศการเรียนการสอนที่นี่น่าจะเต็มไปด้วยความเป็นธรรมชาติ ร่มรื่น ช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็กได้

เมื่อเข้ามาภายในสิ่งแรกที่สังเกตได้คือตัวอาคารส่วนใหญ่ จะเป็นวัสดุไม้ รูปแบบอาคารแสดงให้เห็นถึงสเกลของความเป็นไทยตัวอาคารโปร่งโล่งยกใต้ถุนเป็นการระบายอากาศ

ขนาดอาคารที่ไม่ใหญ่โตมากเป็นกลุ่มอาคารจะมีทางเชื่อม และมีลานกว้างเพื่อทำกิจกรรมรวมทั้ง ที่นี่จะไม่ค่อยรู้สึกร้อนเพราะมีต้นไม้สูงใหญ่คอยบังแสงแดดให้ สิ่งที่น่าสนในของโรงเรียนแห่งนี้คือ การนำเอาวัสดุท้องถิ่นธรรมชาติเข้ามาใช้ และประยุกต์โดยใช้ความรู้สมัยใหม่เข้ามาช่วย ทำให้รูปแบบหรืออัตลักษณ์ของท้องถิ่นยังคงอยู่ การที่ผู้ออกแบบประยุกต์วัสดุเหล่านี้มาใช้ทำให้เห็นว่าเกิดรูปแบบที่แปลกตาออกไป เช่นในรูปด้าน การเปิดช่องเปิดเป็นการเล่นจังหวะได้อย่างน่าสนใจซึ่งผลที่เกิดขึ้นเหล่านี้ ล้วนมาจากประโยชน์ใช้สอยต่างๆที่เกิดขึ้น แต่เนื่องจากเป็นอาคารสมัยใหม่

วัสดุธรรมชาติที่อาจจะหายากและมีราคาสูงวัสดุโครงสร้างหลักก็ยังเป็นคอนกรีต เพื่อความแข็งแรง แต่ดูแล้วไม่แข็งจนเกินไปเพราะมีวัสดุธรรมชาติเข้ามาช่วยเสริมให้ตัวสถาปัตยกรรม กลมกลืนเข้ากับธรรมชาติได้อย่างดี

ต่อจากนั้นเราก็เดินเท้าไม่ไกลนักมายังในส่วนบริเวณของสถาบันอาศรมศิลป์ บรรยากาศภายในก็ยังสอดแทรกกับธรรมชาติเช่นกัน การวาง lay-out ของอาคารเป็นหลังๆ หลังคาหญ้าแฝก สูงเด่นของแต่ละหลัง โดยมีทางเชื่อมเดินถึงกัน สิ่งที่โดดเด่นของที่นี้ น่าจะเป็นเรื่องของการเล่นระดับ ของแต่ละพื้นที่ใช้สอยเป็นการแสดงถึง รูปแบบการประยุกต์สถาปัตยกรรมไทยพื้นถิ่นเข้ามาใช้ในงานสมัยได้อย่างลงตัว โดยเฉพาะ การยื่นนอกชานโล่งและมีหลังคาเพิงยื่นออกมารับ


สิ่งที่สังเกตเห็นได้อีกอย่างคือการประยุกต์นำเอาวัสดุธรรมชาติมาร่วมกับวัสดุสมัยใหม่เช่น คอนกรีต ซึ่งคอนกรีต เหล็ก และกระจก จากที่ได้ฟัง อ.จิ๋วบรรยายที่ผ่านทำให้เห็น พึ่งพาตัวเองซึ่งเป็นหลักการของวิถีชุมชนท้องถิ่น อย่างเช่นหลังคาที่ใช้วัสดุธรรมชาติมุง หญ้าแฝก อ.จิ๋วได้อธิบายว่า หญ้าแฝกถือเป็นสัญลักษณ์ และอัตลักษณ์แทนการพึ่งพาตนเอง คือวัสดุธรรมชาติที่ชาวบ้านหาเองได้ ถ้าแม้ว่าจะมีอายุการใช้งานไม่นานเมื่อชำรุดทรุดโทรมก็สามารถหามาซ่อมแซม ทำเองได้โดยไม่ต้องเสียเงิน อาจารย์จิ๋วยังอธิบายอีกว่า ที่นี่เป็นตัวอย่างของการนำเอาภาษาชาวบ้าน มาแก้ไขปรับปรุงให้สอดคล้องกับพฤติกรรม

ส่วนการวาง planning ที่สอดคล้องกับท้องถิ่น คือการประสานของใหม่กับของเก่า ที่สำคัญคือการต้องไม่ทำลายของเดิม ให้สูญเสีย

สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างคือ การออกแบบให้รูปด้านดู
modern ในขณะที่วัสดุหลักยังเป็นไม้ ระนาบต่างๆ ถูกถอดออกมาจากความเป็นวัสดุธรรมชาติ ที่ถูกจัดให้เข้าระเบียบ ประณีต ซึ่งแตกต่างจากบ้านชาวบ้านที่อาจจะสร้างด้วยภูมิปัญญาเก่า แต่ขาดการจัดเข้าสู่ระเบียบ สมัยใหม่ แต่สิ่งที่เหมือนกันคือเรื่องวัสดุ และ อัตราส่วนของความเป็นท้องถิ่น ที่อ.จิ๋ว มักพูดเสมอว่า ภาษาโครงสร้าง ที่เป็นการเปิดโล่ง ยกใต้ถุนสูง และการปิดล้อม ด้วยธรรมชาติ ความพอเพียงด้วยการพึ่งพาตนเอง

จากทัศนคติของนักศึกษาสถาปัตยกรรมแล้ว การที่ได้มาพบเห็นประสบการณ์ครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรก ที่ได้เห็นมุมมองใหม่ๆนอกจากที่นั่งเรียน ในห้อง ซึ่งในบางครั้ง ส่วนตัวผมแล้วจะยังไม่ค่อยเข้าใจนัก

แต่เมื่อได้มาพบกับของจริงที่ อ.จิ๋วได้เคยพูดไว้ ก็เริ่มที่จะเข้าใจมากขึ้น หลายๆสิ่งที่เห็นในวันนั้นเป็นตัวอย่างที่ดีมากของการประยุกต์ นำเอาสิ่งที่มีอยู่เดิม มาจัดระบบระเบียบสมัยใหม่ ใช้เทคโนโลยีของวัสดุใหม่มาทดแทนของเดิม แต่ยังคงรูปแบบ สัดส่วนเดิมไว้อย่างเหมาะสม สิ่งที่เราต้องตระหนักอีกสิ่งหนึ่งคือ สถาปนิกต้องคำนึงถึงสภาพแวดล้อม ความเป็นอยู่และวัฒนธรรม ให้ลึกซึ้งและเข้าใจถึงแกนแท้จริงๆ เพราะถ้าหากเราไม่เข้าใจสิ่งนั้นแล้ว การออกแบบที่เห็นก็อาจจะเป็นแค่เปลือกนอก ตัวสถาปัตยกรรมนั้นอาจจะไม่มีคุณค่า และไร้ซึ่งอัตลักษณ์ของท้องถิ่นไปเลยก็เป็นได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น